นีโอสติกมีน (Neostigmine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

นีโอสติกมีน (Neostigmine) คือ ยาบำบัดอาการโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis ย่อว่า เอมจี/MG), รวมถึงใช้เป็นยาถอนฤทธิ์ยาคลายกล้ามเนื้อ/ ยาหย่อนกล้ามเนื้อ เช่นยา Rocuronium และ Vecuronium ที่ผู้ป่วยได้รับร่วมกับการวางยาสลบเพื่อการผ่าตัดรักษาโรค,และยังใช้บำบัดอาการปัสสาวะขัดที่มีสาเหตุจากการได้รับยาชา/ยาสลบกลับมาเป็นปกติ, หรือใช้บำบัดอาการในผู้ป่วยที่ได้รับพิษจาก Curariform (สารที่มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต)อีกด้วย, โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาฉีด  

ยานีโอสติกมีนอยู่ในกลุ่มยา ‘อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรส/Acetylcholinesterase inhibitor ย่อว่า เอซีเฮชอีไอ (AChEI), อีกชื่อคือ Cholinesterase inhibitor,’ ซึ่งยานีโอสติกมีนถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1931 (พ.ศ. 2474)

 ด้วยการดูดซึมของตัวยานีโอสติกมีนทางระบบทางเดินอาหารมีต่ำ จึงพบเห็นยานีโอสติกมีนถูกนำมาใช้ในลักษณะของยาฉีด ซึ่งเมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด จะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 15 - 25%, ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 42 - 60 นาทีเพื่อกำจัดยานี้โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

*กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานีโอสติกมีนมากเกินขนาดจะพบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงตลอดจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายและถึงขั้นตายได้

มีบางปัจจัยหรือมีเหตุผลบางประการที่เป็นข้อห้ามในการใช้ยานีโอสติกมีน หรือต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานีโอสติกมีน
  • ขณะใช้ยานีโอสติกมีน ผู้ป่วยมีการใช้ยา Procainamide  หรือใช้ยาประเภทอนุพันธุ์ควินิน (Quinine derivative  เช่น Quinidine)  หรือใช้ยา Succinylcholine ร่วมด้วยหรือไม่, ด้วยยากลุ่มดังกล่าวสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาและส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยานีโอสติกมีน (อ่านเพิ่มเติมใน’หัวข้อ ปฏิกิริยาระหว่างยาฯ’)
  • สตรีตั้งครรภ์ รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดอันตรายต่อการใช้ยาหลายชนิด ซึ่งรวมถึงยานีโอสติกมีนด้วยเช่นกัน
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะ หัวใจหยุดเต้น   หัวใจเต้นช้า ภาวะลำไส้อุดตัน  ท่อทางเดินปัสสาวะอุดตัน  หรือมีการติดเชื้อ, ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากหากจำเป็นต้องใช้ยานีโอสติกมีน

ยานีโอสติกมีน เป็นอีกหนึ่งรายการยาที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐาน ที่สถานพยาบาลควรมีประจำสำรองใช้กับผู้ป่วย

ตามกฎหมายยาของไทย ได้จัดให้ยานีโอสติกมีนอยู่ในหมวดยาอันตราย, การใช้ยานี้จะมีแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น, ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมของยานีโอสติกมีนได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลนั้นๆ

นีโอสติกมีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยานีโอสติกมีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาและบำบัดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี  
  • บำบัดอาการปัสสาวะขัดหลังเข้ารับการผ่าตัด
  • ใช้เป็นยาถอนพิษของยาหย่อนกล้ามเนื้อกลุ่ม’ดีโพลาไรซิ่ง-นิวโรมัสคูลาร์-บล็อกกิ้งเอเจนท์ (Nondepolarizing neuromuscular blocking agents  อีกชื่อคือ Nondepolarizing neuromuscular blockers)’

นีโอสติกมีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานีโอสติกมีนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อว่า ‘อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase)’ ซึ่งมีหน้าที่คอยทำลายสารสื่อประสาทชนิด อะเซทิลโคลีน/แอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ส่งผลให้ปริมาณสารอะเซทิลโคลีนในร่างกายเพิ่มขึ้น และเกิดการกระตุ้นให้มีการหดตัวของกล้ามเนื้อ, จากกลไกดังกล่าว จึงก่อให้เกิดฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ

นีโอสติกมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานีโอสติกมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาฉีด ขนาด 2.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 12.5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

นีโอสติกมีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยานีโอสติกมีนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา: เช่น

  • ขนาดการรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี: เช่น
  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 0.5 - 2.5 มิลลิกรัม

ข. ขนาดการบำบัดอาการปัสสาวะขัดหลังการผ่าตัด: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.5 - 1 มิลลิกรัม และหากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง แพทย์สามารถให้ยาซ้ำอีก 1 ครั้ง, หรือแพทย์อาจฉีดยาทุก 3 ชั่วโมงได้อีก 5 ครั้งโดยขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย

ค. ใช้ถอนพิษสารประเภทนอนดีโพลาไรซิ่ง นิวโรมัสคูลาร์ บล็อกกิ้ง เอเจนท์ (Nondepo larizing neuromuscular blocking agents): เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ ขนาด 0.5 - 2.5 มิลลิกรัม, แพทย์สามารถให้ยาซ้ำได้, โดยผู้ป่วยไม่ควรได้รับยาทั้งหมดเกิน 5 มิลลิกรัม

*อนึ่ง: การใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานีโอสติกมีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานีโอสติกมีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

นีโอสติกมีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยานีโอสติกมีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น ทำให้หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็เต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจีผิดปกติ  หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีผื่นคัน หรือลมพิษ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากคอแห้ง  คลื่นไส้อาเจียน  ท้องอืด ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น  ปัสสาวะบ่อย
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เป็นตะคริว กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง  ปวดข้อ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดหัว  นอนไม่หลับหรือง่วงนอน, มีอาการสั่นหลังผ่าตัด,  ชัก  การครองสติไม่เป็นปกติ
  • ผลต่อการมองเห็นภาพ: เช่น รูม่านตาแคบลง  การมองเห็นภาพเปลี่ยนไป

มีข้อควรระวังการใช้นีโอสติกมีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานีโอสติกมีน: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานีโอสติกมีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ที่มีภาวะลำไส้อุดตัน  หรือท่อทางเดินปัสสาวะอุดตัน หรือผู้ป่วยที่ท่อทางเดินปัสสาวะมีการติดเชื้อ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคลมชัก โรคหืด หัวใจเต้นช้า  ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน    หัวใจเต้นผิดจังหวะ  และผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
  • หากหลังการใช้ยานี้แล้วอาการป่วยยังไม่ดีขึ้น ควรต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลทราบโดยเร็ว
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานีโอสติกมีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด สมุนไพรต่างๆ  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

นีโอสติกมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานีโอสติกมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยานีโอสติกมีน ร่วมกับยา Cyclopropane, Procainamide และ Quinidine สามารถลดประสิทธิภาพหรือฤทธิ์ในการรักษาของยานีโอสติกมีน หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยานีโอสติกมีน ร่วมกับยา Beta-blockers เช่นยา  Propranolol หรือใช้ร่วมกับยา Sccinylcholine อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยานีโอสติกมีนเพิ่มมากขึ้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยานีโอสติกมีน ร่วมกับยา Tramadol, Bupropion อาจทำให้มีความเสี่ยงของโรคลมชักเกิดขึ้นได้ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยานีโอสติกมีน ร่วมกับยา Hydrocortisone อาจทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยานีโอสติกมีนด้อยประสิทธิภาพลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน  แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษานีโอสติกมีนอย่างไร?

ควรเก็บยานีโอสติกมีน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

นีโอสติกมีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานีโอสติกมีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Neostigmine GPO (นีโอสติกมีน จีพีโอ) GPO
Neostigmine Chi Sheng (นีโอสติกมีน ไชเชง) Chi Sheng
Prostigmin (โพรสติกมิน) A.Menarini

 

อนึ่ง: ยานีโอสติกมีนที่จำหน่ายในประเทศตะวันตก มียาชื่อการค้าอื่น เช่น Vagostigmin, Bloxiverz

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Neostigmine#Medical_uses  [2022,Dec3]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Neostigmine%20GPO/?type=brief  [2022,Dec3]
  3. https://www.drugs.com/mtm/neostigmine.html  [2022,Dec3]
  4. https://go.drugbank.com/drugs/DB01400  [2022,Dec3]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/neostigmine?mtype=generic  [2022,Dec3]
  6. https://www.drugs.com/sfx/neostigmine-side-effects.html  [2022,Dec3]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/acetaminophen-tramadol-with-neostigmine-85-0-1706-0.html  [2022,Dec3]