ยาหย่อนกล้ามเนื้อ (Depolarizing blocking agent)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาหย่อนกล้ามเนื้อประเภท Depolarizing blocking agent (Depolarizing blocking drug หรือ Depolarizing blocker หรือ Depolarizing neuromuscular blocker) เป็นยาช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ประโยชน์ทางคลินิกที่พบเห็นการใช้บ่อยกับผู้ป่วยเมื่อต้องทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ(Endotracheal intubation) การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร(Endoscopy) รวมถึงการดัดดึงทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูก(Orthopaedic manipulations) โดยทั่วไป การหดตัวของกล้ามเนื้อจะต้องอาศัยคำสั่งจากกระแสประสาทโดยมีสารสื่อประสาทอย่างAcetylcholine (Ach) เป็นตัวกลางที่ช่วยนำคำสั่งมาจากเซลล์ประสาทสั่งการอีกทีหนึ่ง สารประกอบAch จะต้องเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Acetylcholine receptor จึงถือว่าการนำส่งกระแสประสาททำงานได้สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะเป็นผลให้กล้ามเนื้อหดตัว ทั้งนี้ยา Depolarizing blocking agent สามารถออกฤทธิ์ปิดกั้นการรับคำสั่งหรือกระแสประสาทที่ถูกส่งมายังบริเวณกล้ามเนื้อของร่างกาย โดยยากลุ่มนี้มีโครงสร้างเคมีเรียนแบบ ACh และจะเข้ารวมตัวกับAcetylcholine receptor แทนที่ACh กลไกนี้เป็นต้นเหตุทำให้การนำส่งกระแสประสาทไม่ประสพความสำเร็จ จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดสภาพคลายตัว/หย่อนตัวตามมา

อาจยกตัวอย่างของยาหย่อนกล้ามเนื้อประเภท Depolarizing blocking agent ดังนี้ เช่น

1. Succinylcholine นำมาใช้เป็นยากระตุ้นให้กล้ามเนื้อคลายตัว/หย่อนตัวและเกิดภาวะคล้ายเป็นอัมพาตในระยะเวลาสั้นๆ มักใช้ในกรณีที่ต้องสอดท่อช่วยหายใจเข้าใน ท่อลม(Tracheal intubation) มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ถูกเตรียมเป็นยาฉีดเท่านั้น ด้วยฤทธิ์ของตัวยาจะทำให้หัตถการทางการแพทย์ทำได้สะดวก ผู้ป่วยสบายตัวขึ้นระหว่างทำการหัตการเหล่านั้น ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุให้ Succinylcholine เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองใช้สำหรับผู้ป่วย ยาSuccinylcholine ยังถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยอีกด้วย

2. Decamethonium เป็นยาที่มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเกิดสภาพหย่อนตัวหรือเป็นอัมพาตได้ชั่วขณะ สามารถใช้ร่วมกับกระบวนการวางยาสลบ อย่างไรก็ตามยานี้ไม่ได้รับความนิยมในทางการแพทย์เท่ากับSuccinylcholine ด้วยขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาDecamethonium เป็นผลให้กล้ามเนื้อของร่างกายเป็นอัมพาตชั่วขณะก็จริง แต่ไม่สามารถก่อฤทธิ์ให้เกิดอาการชาได้ ผู้ป่วยจึงยังมีความรู้สึกสัมผัสอาการเจ็บ/ปวดได้ อาการเหล่านี้จะทำให้เกิดสภาพจิตวิตกกังวล และในเวลาเดียวกันตัวผู้ป่วยหมดความสามารถที่จะใช้กล้ามเนื้อร่างกายที่แสดงท่าทางสื่อสารกับแพทย์ได้ว่า ตนเองรู้สึกเจ็บปวด รำคาญ สบายตัวหรือไม่ เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลทำให้ไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยา Decamethonium ตามสถานพยาบาลทั่วไป

สำหรับการฟื้นสภาพร่างกายของผู้ป่วยหลังได้รับยาหย่อนกล้ามเนื้อ ทางการแพทย์จะใช้ยาประเภท Acetylcholinesterase inhibitor อย่างเช่นยา Pyridostigmine มาต้านฤทธิ์ยาหย่อนกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยสามารถขยับตัวหรือฟื้นสภาพร่างกายได้เร็วขึ้น ในทางปฏิบัติพบว่า ยาDepolarizing blocking agent จะใช้เวลานานในการตอบสนองต่อยา Acetylcholinesterase inhibitor เป็นผลให้กล้ามเนื้อต้องใช้เวลาในการฟื้นสภาพที่ยาวนานขึ้น ประกอบกับ ยา Depolarizing blocking agent ทำให้กล้ามเนื้อกระตุกก่อนที่จะเกิดฤทธิ์เป็นอัมพาต จนอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังการใช้ยาหย่อนกล้ามนี้กลุ่มนี้ตามมา ด้วยข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมด อาจเป็นเหตุผลทำให้ยาหย่อนกล้ามเนื้ออีกประเภทประเภท คือยา Non-depolarizing blockers ซึ่งมีอยู่หลายรายการเป็นที่ยอมรับและมีใช้ในวงการแพทย์มากกว่ายา Depolarizing blocking agent

Depolarizing blocking agent มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาหย่อนกล้ามเนื้อ1

ยา Depolarizing blocking agent มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อ หย่อนตัวเมื่อต้องทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น

  • การใส่ท่อช่วยหายใจ (Endotracheal intubation)
  • การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Endoscopy)
  • การดัดดึงทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Orthopaedic manipulations)

Depolarizing blocking agent มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาDepolarizing blocking agent มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะแข่งขันกับสารสื่อประสาทอย่าง ACh จากตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับของ Ach ที่ชื่อ Acetylcholine receptor เสียเอง จึงส่งผลบดบังช่องทางการเข้ารวมตัวของACh กับตัวรับดังกล่าว ซึ่ง กลไกของ Depolarizing blocking agent คือกระตุ้นให้เซลล์กล้ามเนื้อเกิดอาการหดตัวเป็นหย่อมๆ/การกระตุก จากนั้นจึงเกิดภาวะอัมพาตของกล้ามเนื้อในภายหลัง และเป็นที่มาของสรรพคุณ

Depolarizing blocking agent มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยา Depolarizing blocking agent มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีด เช่น

  • กรณียา Succinylcholine รูปแบบการจัดจำหน่ายจะเป็นยาฉีด ขนาดบรรจุ 20 และ 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

Depolarizing blocking agent มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการใช้ยา Depolarizing blocking agent จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไปในผู้ป่วยแต่ละราย

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา Depolarizing blocking agent ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยา Depolarizing blocking agent อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

Depolarizing blocking agent มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยา Depolarizing blocking agent สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ได้ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อผิวหนัง เช่น อาจมีผื่นคัน
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น เกิดภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น กดการหายใจ หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบประสาท เช่น ความดันในกะโหลกศีรษะสูง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อกระตุก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น มีน้ำลายมาก

มีข้อควรระวังการใช้ Depolarizing blocking agent อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยา Depolarizing blocking agent เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วย โรคกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ตา ผู้ที่มีบาดแผลบริเวณกะโหลกศีรษะ ผู้ที่มีภาวะโปแตสเซียมในเลือดสูง
  • ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยา Depolarizing blocking agent ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

Depolarizing blocking agent มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยา Depolarizing blocking agent มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Depolarizing blocking agent ร่วมกับยา Neostigmine ด้วยจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา Depolarizing blocking agent ตามมา เช่นระยะเวลาการเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อยาวนานขึ้น
  • ห้ามใช้ยา Depolarizing blocking agent ร่วมกับยา Polymyxin B ด้วยอาจก่อให้เกิดปัญหาทางระบบการหายใจกับผู้ป่วยตามมา
  • ห้ามใช้ยา Depolarizing blocking agent ร่วมกับยา Digitalis เพราะจะทำให้ระดับเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูงขึ้น

ควรเก็บรักษา Depolarizing blocking agent อย่างไร

เก็บยาDepolarizing blocking agent ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

Depolarizing blocking agent มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยา Depolarizing blocking agent มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Anectine (อะเน็คทีน) Glaxo Smith Kline
Succinyl (ซักซินิล) Sidefarma
Quelicin (ควอลิซิน) Hospira

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Neuromuscular-blocking_drug#Depolarizing_blocking_agents[2017,Oct21]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Suxamethonium_chloride[2017,Oct21]
  3. https://www.drugs.com/uk/suxamethonium-chloride-injection-bp-100mg-2ml-leaflet.html[2017,Oct21]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Decamethonium[2017,Oct21]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Pyridostigmine#Mechanism_of_action[2017,Oct21]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/succinylcholine-index.html?filter=3&generic_only=#P[2017,Oct21]