นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine: NE) หรือ นอร์แอดรีนาลี (Noradrenaline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrin ย่อว่า เอ็นอี/NE) หรืออาจเรียกว่า ยานอร์แอดรีนาลีน(Noradrenaline ย่อว่า เอ็นเอ/NA) จัดเป็นสารประเภทฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่ร่างกายผลิตได้จากกรดอะมิโนที่มีชื่อว่า ไทโรซีน (Tyrosine) นอร์อิพิเนฟรินจะถูกหลั่งออกมาจากระบบประสาทอัตโนมัติชนิดซิมพาเทติก เมื่อร่างกายต้องเผชิญกับภาวะอันตรายหรือภาวะบีบคั้น ทำให้ร่างกายมีการตอบสนองที่จะปกป้องตนเองได้อย่างรวดเร็วทันที ซึ่งส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายเช่น

  • เพิ่มปริมาณออกซิเจนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ทำให้ความคิดเกิดขึ้นได้เร็วและแจ่มชัด
  • เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะในส่วนต่างๆของร่างกายได้ดีมากขึ้น
  • การหายใจเร็วขึ้น ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายและสมองได้ดีขึ้น ช่วยให้ร่างกาย เคลื่อน ไหวได้ดีกว่าปกติ
  • หยุดกระบวนการบางอย่างของร่างกายเช่น กระบวนการย่อยอาหาร และนำพลังงานที่ใช้ในส่วนนี้ไปใช้ในส่วนที่จำเป็นกว่า

สำหรับทางด้านการนำมาใช้เป็นยา นอร์อิพิเนฟรินถูกนำมาใช้รักษาภาวะความดันโลหิตต่ำและมีใช้ในรูปแบบยาฉีด ซึ่งเมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายจะส่งผ่านไปยังเนื้อเยื่อของระบบประสาทอัตมัติซิมพาเทติก (Sympathetic nervous system) เพื่อกระตุ้นการออกฤทธิ์ที่อวัยวะปลายทางเช่น หัวใจ และสมอง ยานี้สามารถผ่านเข้ารกของหญิงตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่สามารถผ่านหลอดเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อสมอง (Blood brain barrier) ตับจะทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของนอร์อิพิ เนฟริน และปริมาณยาส่วนมากจะถูกขับออกมากับปัสสาวะ

ยานอร์อิพิเนฟริน จัดเป็นยาอีกหนึ่งตัวที่อยู่ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และระบุใช้เป็นยารักษาความดันโลหิตต่ำที่เกิดจากการใช้ยากลุ่ม Beta blockers, กลุ่ม Calcium channel blockers และ Theophylline และจัดเป็นยาจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน

นอร์อิพิเนฟรินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

นอร์อิพิเนฟริน

ยานอร์อิพิเนฟรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะความดันโลหิตต่ำชนิดที่เกิดเฉียบพลัน (Acute hypotensive state)
  • รักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นคือในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น(Upper gastrointestinal haemorrhage)

นอร์อิพิเนฟรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยานอร์อิพิเนฟรินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นที่ตัวรับ/ หน่วยรับความรู้สึก(Receptor) ชนิดเบต้า 1 และแอลฟา-แอดริเนอจิก (Beta 1 and Alpha-adrenergic receptors, ตัวรับสำหรับสารนอร์อิพิเนฟรินที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อและในอวัยวะต่างๆเช่น ผนังหลอดเลือดต่างๆ หัวใจ สมอง) ส่งผลให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตทั้งขณะที่หัวใจบีบตัวและที่คลายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจช้าลง จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

นอร์อิพิเนฟรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานอร์อิพิเนฟรินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • รูปแบบยาฉีด ขนาดความแรง 4 มิลลิกรัม/4 มิลลิลิตร

*****หมายเหตุ: ยานอร์อิพิเนฟรินไม่มีรูปแบบของยารับประทาน เนื่องจากยาจะถูกทำลายเมื่ออยู่ในระบบทางเดินอาหาร

นอร์อิพิเนฟรินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยานอร์อิพิเนฟรินมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาสำหรับภาวะความดันโลหิตต่ำชนิดเฉียบพลัน เช่น

  • ผู้ใหญ่: ให้ยาขนาดเริ่มต้นที่ 8 - 12 ไมโครกรัม/นาที หากการตอบสนองไม่ดีและมีภาวะช็อกร่วมด้วย แพทย์สามารถปรับขนาดเป็น 8 - 30 ไมโครกรัม/นาที
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): แพทย์สามารถให้ยาในอัตรา 2 ไมโครกรัม/นาทีหรือ 2 ไมโครกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย/นาที

อนึ่ง:

  • การให้ยาฯกับผู้ป่วยกรณีนี้ จะต้องเจือจางยาฉีดกับสารน้ำ Glucose 5% หรือ น้ำเกลือ Sodium chloride 0.9% และหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยปฏิบัติตามหัตถการที่ถูกต้องตามมาตรฐานของสถานพยาบาล
  • การปรับขนาดการให้ยาจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองของความดันโลหิตจากร่างกายผู้ป่วย โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยานอร์อิพิเนฟริน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานอร์อิพิเนฟรินอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

นอร์อิพิเนฟรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยานอร์อิพิเนฟริน สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาจเกิดภาวะความดันโลหิตสูง
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • หัวใจเต้นช้า
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • วิตกกังวล
  • หายใจติดขัด/หายใจลำบาก

*ทั้งนี้ หากร่างกายได้รับยานี้เกินขนาด อาจมีอาการตามมาดังนี้ เช่น ความดันโลหิตสูง, เหงื่อออกมาก, เลือดออกในสมอง, และมีอาการชัก ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัวส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้นอร์อิพิเนฟรินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานอร์อิพิเนฟริน เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะความดันโลหิตสูง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
  • ห้ามใช้ยานี้ฉีดร่วมกับยาชาในบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า หู จมูก หรืออวัยวะเพศ
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดอุดตัน นอกจากแพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีว่าการให้ยาจะส่ง ผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่า
  • ก่อนการให้ยานี้แพทย์ต้องประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วย ต้องไม่อยู่ในภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxia) หรือมีภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดเกิน หรือเลือดมีภาวะเป็นกรดมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการฉีดยานี้เข้าบริเวณหลอดเลือดดำที่ขา โดยเฉพาะในผู้ป่วย เบาหวาน ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะ/โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยที่มี ภาวะฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์สูง(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน)
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ หรือมีสภาพของยาเปลี่ยนไปเช่น มีสีเปลี่ยนไปจากเดิมหรือมีตะกอนเกิดขึ้น
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานอร์อิพิเนฟรินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

นอร์อิพิเนฟรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

นอร์อิพิเนฟรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยานอร์อิพิเนฟริน ร่วมกับยาต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ร่างกายมีภาวะความดันโลหิตสูงติดตามมา การใช้ยาจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง หรือแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยานี้ให้เหมาะสมและคอยควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วยให้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา
    • Guanethidine
    • Methyldopa
    • Reserpine
    • ยาในกลุ่มTCAs

ควรเก็บรักษานอร์อิพิเนฟรินอย่างไร?

ควรเก็บยานอร์อิพิเนฟริน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

นอร์อิพิเนฟรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานอร์อิพิเนฟริน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Levophed (เลโวเฟด)Hospira
N-Epi (เอ็น-อีพิ)Novell Pharma
Norpin (นอร์พิน)Dalim Biotech

บรรณานุกรม

1 https://en.wikipedia.org/wiki/Norepinephrine [2020,Oct31]

2 https://study.com/academy/lesson/what-is-norepinephrine-effects-function-definition.html [2020,Oct31]

3 https://www.drugs.com/mtm/norepinephrine.html [2020,Oct31]

4 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fnorepinephrine%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric [2020,Oct31]

5 https://www.drugs.com/drug-interactions/norepinephrine-index.html?filter=2#R [2020,Oct31]

6 https://www.drugs.com/mtm/norepinephrine.html [2020,Oct31]