ทิซานิดีน (Tizanidine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ทิซานิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ทิซานิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทิซานิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทิซานิดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ทิซานิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทิซานิดีนอย่างไร?
- ทิซานิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทิซานิดีนอย่างไร?
- ทิซานิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Alpha-2 adrenergic receptor agonists
- ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants drugs)
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มบำรุงกำลัง (Energy drinks)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
บทนำ: คือยาอะไร?
ทิซานิดีน (Tizanidine) คือ ยาในกลุ่มแอลฟา-2 อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Alpha-2 adrenergic receptor agonists) มีกลไกการออกฤทธิ์ระยะสั้นๆที่สมอง ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย หรือเป็นยาคลายกล้ามเนื้อ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นยาชนิดรับประทานที่มีความแรงขั้นต่ำ 2 มิลลิกรัม/เม็ด
หลังจากตัวยาทิซานิดีนถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 30% การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้จะเกิดขึ้นที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2.4 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาปริมาณ 50% ออกจากกระแสเลือด การใช้ยาทิซานิดีนกับผู้ที่ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต ต้องใช้ความระมัดระวังและปรับขนาดรับประทานอย่างเหมาะสม
หากผู้ป่วยได้รับยาทิซานิดีนเป็นเวลานานๆ (ประมาณ 9 สัปดาห์ขึ้นไป) หากจะหยุดการใช้ยา แพทย์มักจะค่อยๆปรับลดขนาดรับประทานลงแทนที่จะหยุดการใช้ยาทันทีทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงอาการถอนยา(ลงแดง)ติดตามมา หรือการใช้ยาทิซานิดีนกับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ใช้ยาลดความดันโลหิตอยู่นั้นสามารถส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
นอกจากนี้การใช้ยาทิซานิดีนร่วมกับการดื่มสุราสามารถทำให้รู้สึกง่วงนอนอย่างมากมาย และยังมีบางกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ไปประมาณ 6 สัปดาห์แล้วเกิดอาการประสาทหลอน หากมีเหตุการณ์เช่นนี้ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนการใช้ยา
ประการสุดท้าย หากต้องการใช้ยานี้กับสตรี แพทย์มักจะนำสถานะทางสุขภาพมาประกอบก่อนการจ่ายยา เช่น อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร หรืออยู่ในช่วงรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่ด้วยหรือเปล่า เพราะยาทิซานิดีนสามารถทำให้ฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดด้อยลงจนสุ่มเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ติดตามมา ดังนั้นระหว่างใช้ยานี้จึงควรต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีการอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดให้ทิซานิดีนอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ซึ่งเราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยา บาลและมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป
ทิซานิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาทิซานิดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ และเพื่อช่วยลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ
ทิซานิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาทิซานิดีนคือ ตัวยาไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อ(กล้ามเนื้อลาย)โดยตรง แต่จะออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor) ในสมองที่มีชื่อว่า Alpha-2 adrenergic receptor ส่งผลให้ยับยั้งการนำกระแสประสาทจากบริเวณเชื่อมต่อของเซลล์สมองกับเซลล์กล้ามเนื้อ(Presynaptic neuron) ส่งผลให้เซลล์กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัวจนเป็นที่มาของสรรพคุณ
ทิซานิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทิซานิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2, 4 และ 6 มิลลิกรัม/เม็ด
ทิซานิดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาทิซานิดีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 4 มิลลิกรัมทุกๆ 6 - 8 ชั่วโมง หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นครั้งละ 2 - 4 มิลลิกรัม ขนาดรับประทานเพื่อคงระดับการรักษาอยู่ที่ 8 มิลลิกรัม ทุกๆ 6 - 8 ชั่วโมง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 36 มิลลิกรัม/วันและขนาดรับประทานสูงสุดต่อครั้งไม่เกิน 12 มิลลิกรัม
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*อนึ่ง ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาทิซานิดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทิซานิดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาทิซานิดีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาทิซานิดีนให้ตรงเวลา
ทิซานิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทิซานิดีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เจ็บหน้าอก
- มีไข้
- หนาวสั่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- กระสับกระส่าย
- ปวดแสบขณะปัสสาวะ
อนึ่ง: อาการข้างเคียงอื่นที่พบได้แต่น้อย อาทิ ตาพร่า หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีผื่นคัน อาจเกิดนิ่วในไต รู้สึกตึงหน้าท้องด้านขวา น้ำหนักตัวเพิ่ม
*สำหรับอาการของผู้ที่ได้รับยาทิซานิดีนเกินขนาด: จะพบอาการ ตาพร่า ขาดสมาธิ เจ็บหน้าอก รู้สึกสับสน อึดอัด/หายใจลำบาก วิงเวียน เป็นลม หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็หัวใจเต้นช้า ริมฝีปากคล้ำ ง่วงนอนอย่างมาก เหงื่อออกมาก *หากเกิดอาการดังกล่าวหลังรับประทานยานี้ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ทิซานิดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทิซานิดีน เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาทิซานิดีน ร่วมกับยา Fluvoxamine (ยาจิตเวช) หรือ Ciprofloxacin
- ห้ามใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพแล้ว
- การหยุดใช้ยานี้ทันทีอาจเกิดอาการถอนยา/ลงแดง)ติดตามมา
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ใช้ยาลดความดันอยู่ก่อนด้วยยา ทิซานิดีนจะเสริมฤทธิ์ให้มีภาวะความดันโลหิตต่ำติดตามมา
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ, โรคไต
- หากพบอาการประสาทหลอนหลังการใช้ยานี้ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อ แพทย์พิจารณาปรับวิธีการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทิซานิดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ทิซานิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทิซานิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาทิซานิดีน ร่วมกับยา Amlodipine, Quinapril จะส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึก ปวดหัว วิงเวียน เป็นลม และมีอัตราการเต้นของหัวใจ/ชีพจรผิดปกติ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้อาการดังกล่าวเกิดขึ้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทิซานิดีน ร่วมกับยา Propoxyphene ด้วยจะก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน ทำให้ขาดสมาธิ อาการเหล่านี้จะพบมากขึ้นหากผู้ป่วยเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ
- ห้ามรับประทานยาทิซานิดีน ร่วมกับกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน (เช่น ชา โคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง) ด้วยสารคาเฟอีนในกาแฟและเครื่องดื่มเหล่านั้นจะทำให้ระดับยาทิซานิดีนในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา
- การใช้ทิซานิดีน ร่วมกับยา Clozapine จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวจึงไม่ควรใช้ยาทั้งคู่ร่วมกัน
ควรเก็บรักษาทิซานิดีนอย่างไร?
ควรเก็บยาทิซานิดีน:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ทิซานิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทิซานิดีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Sirdalud (เซอร์ดาลูด) | Novartis |
Tidar (ไทดาร์) | Sriprasit Pharma |
Tonolyte (โทโนไลท์) | Unison |
Tizan (ทิซาน) | Sun Pharma |
Zanaflex (ซานาเฟล็กซ์) | Acorda |
บรรณานุกรม
- https://www.spine-health.com/treatment/pain-medication/muscle-relaxants [2022,April9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Muscle_relaxant [2022,April9]
- https://www.drugs.com/tizanidine.html [2022,April9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tizanidine [2022,April9]
- https://www.drugs.com/monograph/tizanidine.html [2022,April9]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/tizanidine?mtype=generic [2022,April9]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/tizanidine/patientmedicine/tizanidine%2B-%2Boral [2022,April9]