ทิงเจอร์ฝิ่น/โอเปียมทิงเจอร์ (Opium tincture/Laudanum)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาทิงเจอร์ฝิ่น/โอเปียมทิงเจอร์(Opium tincture หรือ Tincture opium หรือ Laudanum) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขของไทยจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ทั้งนี้ด้วยสูตรตำรับมีฝิ่น(Opium)เป็นองค์ประกอบ เภสัชตำรับของอเมริกาหรือที่เรียกว่า USP/United states pharmacopeia ได้ระบุส่วนประกอบของทิงเจอร์ฝิ่นที่เป็นสารละลาย 100 มิลลิลิตร ดังนี้

1. มอร์ฟีน 1 กรัม (เทียบเท่ากับการใช้ผงฝิ่น 10 กรัม)

2. แอลกอฮอล์ 19%

3. น้ำ

ธรรมชาติของฝิ่นจะมีรสขมมาก แต่ฝิ่นที่นำมาใช้ในทิงเจอร์ฝิ่นจะถูกเตรียมให้มีรสขมลดลง ประโยชน์ใช้สอยของยาประเภทนี้ถูกนำมาใช้เป็นรักษาอาการท้องเสียที่ใช้ยา ประเภท Imodium หรือ Lomotil แล้วไม่ได้ผล นอกจากนี้ในทางการแพทย์ยังใช้ทิงเจอร์ฝิ่นมาบำบัดอาการปวดตั้งแต่ระดับกลางๆไปจนถึงระดับรุนแรงอีกด้วย

อย่างไรก็ตามทางการแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้ทิงเจอร์ฝิ่นกับผู้ป่วยเด็กทั้งนี้ด้วยเหตุผล จากความเป็นพิษที่สามารถก่อความเสียหายต่อร่างกายของเด็กได้มากกว่าผู้ใหญ่

การใช้ยาเสพติดใดๆมารักษาอาการเจ็บป่วยจะต้องระวังเรื่องการติดยาให้มาก ทิงเจอร์ฝิ่นจึงเหมาะที่จะใช้รักษาอาการป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆเท่านั้น

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเราได้รับยาทิงเจอร์ฝิ่นเกินขนาด เช่น

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • รูม่านตาเล็กลง
  • ตัวเย็น
  • การหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • หัวใจเต้นช้า
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง

*การปฐมพยาบาลเบื้องต้นกรณีได้รับทิงเจอร์ฝิ่นเกินขนาด คือ รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีเพราะต้องช่วยเหลือผู้ป่วยเรื่องการหายใจไม่ออกเป็นอันดับแรกโดยใช้เครื่องช่วยหายใจ นอกจากนั้นแพทย์อาจใช้วิธีการล้างท้องหรือกระตุ้นให้อาเจียน ร่วมกับการให้ผู้ป่วยรับประทานยาถ่านกัมมันต์เพื่อลดการดูดซึมของยาทิงเจอร์ฝิ่นเข้าร่างกาย

คนทั่วไป ไม่สามารถซื้อทิงเจอร์ฝิ่นจากร้านขายยาได้เหมือนยาอันตราย หรือยาสามัญประจำบ้าน ด้วยทิงเจอร์ฝิ่นจะต้องซื้อผ่านจากกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น ผู้ซื้อ/สถานพยาบาลจะต้องได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายในการซื้อทิงเจอร์ฝิ่นเข้ามาใช้ในสถานพยาบาลของตน และต้องทำรายงาน การจำหน่าย/การใช้ยาทิงเจอร์ฝิ่นต่อกองควบคุมวัตถุเสพติดตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ

ทิงเจอร์ฝิ่นมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ทิงเจอร์ฝิ่น

ยาทิงเจอร์ฝิ่นมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ

  • รักษาอาการท้องเสียที่ไม่สามารถรักษาด้วยยา Imodium (Loperamide) หรือ Lomotil (Diphenoxylate and Atropine)
  • บำบัดอาการปวดตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนกระทั่งอาการปวดที่รุนแรงมาก

ทิงเจอร์ฝิ่นมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาทิงเจอร์ฝิ่น มีกลไกการออกฤทธิ์ลดอาการปวด และอาการท้องเสีย โดยตัวยาไปชะลอหรือรบกวนสัญญาณที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อที่มีชื่อเรียกว่า Longitudinal muscles หยุดการหดตัวซึ่งถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลำไส้หยุดการบีบตัว และส่งผลให้อาการท้องเสียดีขึ้นเป็นลำดับ

สำหรับกลไกการบำบัดอาการปวด ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาในขนาด ที่สูงกว่าการรักษาอาการท้องเสีย 5–10 เท่า ยามอร์ฟีนในทิงเจอร์ฝิ่นจะออกฤทธิ์ที่สมองโดยจับกับตัวรับ(Receptor)ประเภท Opiates receptor ส่งผลให้กระแสสัญญาณการกระตุ้นความเจ็บปวดลดลง จึงเป็นเหตุให้อาการของผู้ป่วยทุเลาเบาบางลงอย่างรวดเร็ว

ทิงเจอร์ฝิ่นมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาทิงเจอร์ฝิ่นมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยารับประทานแบบสารละลายใสสีน้ำตาลแดง ในสูตรตำรับมีน้ำและแอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลายตัวยา และมีองค์ประกอบของมอร์ฟีน(Morphine) 1 กรัม/100 มิลลิลิตร

ทิงเจอร์ฝิ่นมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาทิงเจอร์ฝิ่นมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับรักษาอาการท้องเสีย:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 0.3–0.6 มิลลิลิตร โดยละลายยาในน้ำหรือน้ำผลไม้แล้วดื่มวันละ 4 ครั้ง กรณีผู้ใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคเอชไอวี(HIV) และ มีอาการท้องเสียอาจต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 1–2 มิลลิลิตรทุกๆ 3 ชั่วโมง
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้ในเด็ก

ข.สำหรับบำบัดอาการปวด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1.5 มิลลิลิตร ทุกๆ 3–4 ชั่วโมง กรณีมีอาการปวดขั้นรุนแรง แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 3–6 มิลลิลิตร ทุกๆ 3 – 4 ชั่วโมง
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทิงเจอร์ฝิ่น ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/ หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทิงเจอร์ฝิ่นอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาทิงเจอร์ฝิ่น สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่าให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

ทิงเจอร์ฝิ่นมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาทิงเจอร์ฝิ่น สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง ท้องผูกหรือท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน มีไข้ ตัวสั่น
  • ผลต่อสภาพทางจิตใจ: เช่น อาจมีอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้า ฝันแปลกๆ ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีอาการหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หรือเกิด หอบหืด หลอดลมเกร็งตัว/หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มผิดปกติ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ ชีพจรผิดปกติ มือ-เท้าบวม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ รูม่านตาเล็กลง

มีข้อควรระวังการใช้ทิงเจอร์ฝิ่นอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาทิงเจอร์ฝิ่น เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่ง แพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจ โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคหืด
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • การรับประทานยานี้ร่วมกับยาใดๆควรปรึกษาแพทย์/เภสัชกรก่อนเสมอ
  • หลังรับประทานยานี้แล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทุกชนิด เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เห็นภาพหลอน ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของแพทย์ เภสัชกร พยาบาล อย่างเคร่งครัด และควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์หมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทิงเจอร์ฝิ่นด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ทิงเจอร์ฝิ่นมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทิงเจอร์ฝิ่นมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาทิงเจอร์ฝิ่นร่วมกับ ยา Benzhydrocodone ด้วยเสี่ยงต่อภาวะหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • ห้ามใช้ยาทิงเจอร์ฝิ่นร่วมกับยา Hydrocodone , Amobarbital , Dihydrocodeine เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจ และมีอาการโคม่า หรือเสียชีวิต
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาทิงเจอร์ฝิ่นร่วมกับ ยาBupropion เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการชักตามมา
  • ห้ามใช้ยาทิงเจอร์ฝิ่นร่วมกับ ยาNaltrexone ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของทิงเจอร์ฝิ่นด้อยลงไป

ควรเก็บรักษาทิงเจอร์ฝิ่นอย่างไร?

ควรเก็บรักษาทิงเจอร์ฝิ่น เช่น

  • สามารถเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

ทิงเจอร์ฝิ่นมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทิงเจอร์ฝิ่น มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Opium tincture (โอเปียม ทิงเจอร์)Edenbridge Pharmaceuticals

บรรณานุกรม

  1. https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/fda/fdaDrugXsl.cfm?setid=e2a5697a-cc41-4cf1-b3a8-59b0268740d7&type=display [2019,June22]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Laudanum#Medical_uses[2019,June22]
  3. https://www.drugs.com/morphine.html [2019,June22]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/morphine-index.html?filter=3 [2019,June22]