ทาโครลิมัส (Tacrolimus)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ทาโครลิมัส (Tacrolimus) หรือ ชื่อการค้าในประเทศไทยคือ ‘โปรกราฟ (Prograf)’ เป็นยากดภูมิคุ้มกันชนิดรับประทานและชนิดสารละลายสำหรับบริหาร/ฉีดทางหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยได้รับยานี้เพื่อกดภูมิคุ้มกัน/ภูมิต้านทานของร่างกายสำหรับป้องกันปฏิกิริยาไม่ยอมรับอวัยวะที่เปลี่ยนถ่ายอย่างเฉียบพลัน/ปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ในผู้ป่วยที่เปลี่ยนไตหรือตับ

สูตรยากดภูมิคุ้มกันที่ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะได้รับมักจะเป็นยากดภูมิคุ้มกัน 3 ชนิดร่วมกันเช่น สูตรยาสำหรับป้องกันภาวะปฏิเสธอวัยวะในผู้ป่วยปลูกถ่ายประกอบด้วยยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) ร่วมกับยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล (Mycophenolate mofetil) และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)

นอกจากนี้ ยาทาโครลิมัส ยังถูกใช้ในการรักษาโรคไตอักเสบจากโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี (Lupus nephritis) กรณีได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์แล้วผลการตอบสนองของโรคไม่เพียงพอและมีอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากยาสเตียรอยด์

         การใช้ยาทาโครลิมัส ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น เพราะยากดภูมิคุ้มกันอาจทำให้เพิ่มโอกาสของการติดเชื้อโรคได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับยาทาโครลิมัสร่วมกับยากดภูมิต้านทาน ชนิดอื่นๆอยู่พึงระมัดระวังการติดเชื้อต่างๆเสมอ อีกทั้งเพื่อให้ระดับยากดภูมิคุ้มกันในร่างกายอยู่ใน ช่วงการรักษาและคงที่ ผู้ป่วยควรรับประทานยากดภูมิต้านทานตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอและติดตามการรักษาตามแพทย์นัดหมาย

ยาทาโครลิมัสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ทาโครลิมัส

ยาทาโครลิมัส มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • สำหรับป้องกันปฏิกิริยาปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย เช่น ตับหรือไต โดยใช้ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่นๆอีก 2 ชนิดคือยา อะซ่าไทโอปรีน (Azathioprine) หรือยาไมโคฟีโนเลต โมฟีทิล (Mycophenolate mofetil) และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticoste roid) และยังมีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรคไตอักเสบลูปัส (Lupus nephritis) กรณีได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์แล้วผลการตอบสนองของโรคไม่เพียงพอและ/หรือมีอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์

 

ยาทาโครลิมัสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาทาโครลิมัสมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวของร่างกายชนิดที-ลิมโฟไซต์ (T-lymphocyte) แต่ยังไม่สามารถทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ นอน ซึ่งให้ผลลัพธ์ท้ายสุดในการยับยั้งการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวของร่างกายชนิดที-ลิมโฟไซต์ (T-lymphocyte) ซึ่งมีผลกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ดังนั้นจึงมีการนำยาทาโครลิมัสมาใช้สำหรับการป้องกันการปฏิเสธอวัยวะ (Organ rejection) ที่ได้รับการปลูกถ่าย

ยาทาโครลิมัสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาทาโครลิมัสในประเทศไทยมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ คือ

  • ยาแคปซูลชนิดออกฤทธิ์ทันที (Capsule) มีชื่อการค้าคือ โปรกราฟ (Prograf) สำหรับรับ ประทาน ขนาด 0.5 มิลลิกรัมและ 1 มิลลิกรัม
  • ยาแคปซูลชนิดออกฤทธิ์ยาว (Prolonged release capsule) มีชื่อการค้าคือ แอดวากราฟ (Advargraf) สำหรับรับประทาน ขนาด 0.5 มิลลิกรัมและ 1 มิลลิกรัม และ
  • สารละลายยาปราศจากเชื้อสำหรับหยดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous injection, IV) ชื่อการค้าคือ โปรกราฟ (Prograf) ความแรง 5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร บรรจุ 1 มิลลิลิตร ใช้ในกรณีผู้ป่วยที่ไม่สามารถให้ยาทาโครลิมัสโดยวิธีการรับประทานยาแคปซูลได้ จำเป็นต้องได้รับยาในรูป แบบยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำเช่น ผู้ป่วยเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดและ/หรือผู้ป่วยมีสภาวะการดูดซึมยาทางระบบทางเดินอาหารดีไม่เพียงพอ

ยาทาโครลิมัสมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาทาโครลิมัสเป็นยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิต้านทานชนิดรับประทานและชนิดสารละ ลายฯที่สำหรับบริหารทางหลอดเลือดดำ มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่ได้รับยาเพื่อกดภูมิต้านทานของร่างกาย ป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย

ขนาดยาทาโครลิมัสที่ใช้ แพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยควรรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและตรงตามเวลา ห้ามผู้ป่วยปรับวิธีการรับประ ทานยาเอง ในผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการตรวจวัดระดับยาในเลือดเพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม

วิธีการรับประทานยาทาโครลิมัส ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้เวลาเดิมทุกวัน พบว่าการรับประ ทานยานี้ในขณะท้องว่าง ยาทาโครลิมัสจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีโดยระดับยานี้จะขึ้นสู่ระดับสูง สุดภายใต้สภาวะท้องว่าง และพบว่าอาหารมีผลรบกวนการดูดซึมยานี้ มีผลกระทบต่อผลและปริมาณการออกฤทธิ์ของยานี้ ดังนั้นควรรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกวันและรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่างคือ ก่อนอาหารอย่างน้อยประมาณ 30 นาทีหรือรับประทานยานี้หลังการรับประทานอาหารเสร็จแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง

ดังนั้นหากท่านกำลังใช้ยาทาโครลิมัสอยู่ ควรรับประทานยานี้ให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง ไม่เพิ่ม ลดหรือปรับขนาดยานี้ด้วยตนเองโดยเด็ดขาด หากท่านมีอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง)ที่รุนแรงหรือมีอาการผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเกิดขึ้นในช่วงที่ได้รับยานี้อยู่ ท่านควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนกำหนดได้เพื่อรับการตรวจรักษาอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว

การใช้ยาทาโครลิมัสในผู้ป่วยไตเสื่อมรุนแรง อาจพิจารณาลดขนาดยาภายหลังผ่านพ้นช่วงระยะหลังการเปลี่ยนถ่ายไตทันที หรือภายหลังการรักษาภาวะไม่ยอมรับอวัยวะทั้งระยะเฉียบพลันหรือระยะกลับเป็นซ้ำ กรณีผู้ป่วยตับเสื่อมรุนแรงสามารถใช้ยานี้ได้ตามขนาดยาปกติ ไม่จำเป็นต้องลดขนาดยานี้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาทาโครลิมัส ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาทาโครลิมัสอาจส่งผลให้อาการของ โรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาทาโครลิ มัสมีผลพิษต่อทารกในครรภ์อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยานี้ถูกขับออกทางน้ำนมอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประ สงค์/ผลข้างเคียงรุนแรงแก่บุตร
  • ผู้ป่วยควรจำชื่อยากดภูมิต้านทานพร้อมขนาดยาที่รับประทานอยู่ให้ได้ทุกตัวหรือจดบันทึกไว้ และหากมีการเปลี่ยนแปลงขนาดยาหรือวิธีการรับประทานยาควรจดบันทึกไว้ทุกครั้ง
  • ผู้ป่วยที่กำลังรับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน/ภูมิต้านทาน จึงควรแจ้งแพทย์/เภสัชกรทุกครั้งก่อนจะรับประทานยาชนิดอื่นๆร่วม และไม่ควรซื้อยาอื่นหรือสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารับประทานเอง เนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากดภูมิคุ้มกันกับยาชนิดอื่นๆ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาทาโครลิมัสที่มีรูปแบบยาเป็นยาออกฤทธิ์ทันทีชื่อการค้า คือ โปรกราฟ โดยมีวิธีการรับประทานยาวันละ 2 ครั้งต่อวัน หากผู้ป่วยลืมรับประทานยาให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือเกิน 6 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 2 ครั้งเวลา 7.00 น. และ 19.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 10.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 7.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมาย ถึงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงห่างจากเวลารับประทานยาปกติถึงมื้อถัดไป) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับ ประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 16.00 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือเวลา 19.00 น. ในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม อย่างไรก็ตามควรรับประทานยาเม็ดที่ลืมในช่วงท้องว่างหรือรับประทานห่างอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

กรณีลืมรับประทานยาทาโครลิมัสที่มีรูปแบบยาเป็นยาออกฤทธิ์ยาวชื่อการค้าคือ แอดวากราฟ โดยมีวิธีการรับประทานยาวันละ 1 ครั้งต่อวัน หากผู้ป่วยลืมรับประทานยาให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือเกิน 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง เวลา 7.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 10.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 7.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงห่างจากเวลารับประทานยาปกติถึงมื้อถัดไป) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 21.00 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือเวลา 7.00 น. วันถัดไปในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม อย่างไรก็ตามควรรับประทานยาเม็ดที่ลืมในช่วงท้องว่างหรือรับประทานห่างอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

กรณีอาเจียนยานี้ออกมา ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังรับประทานยานี้ หากผู้ป่วยเห็นเม็ดยาออกมา ควรเว้นระยะสักครู่รอให้อาการคลื่นไส้หรืออาเจียนดีขึ้นจึงรับประทานยาใหม่ แต่หากผู้ป่วยไม่แน่ใจว่ามียาออกมาพร้อมกับอาเจียนหรือไม่ ไม่ควรรับประทานยาซ้ำเพิ่มโดยเด็ดขาด

กรณีผู้ป่วยต้องเดินทางไกลควรเตรียมยานี้ติดตัวไปเพียงพอตลอดการเดินทาง หากเดินทาง ไปต่างประเทศควรรับประทานยานี้ตามเวลาของประเทศไทย แต่หากต้องปรับเวลารับประทานยานี้ตามประเทศที่ไปพักอาศัย พิจารณาปรึกษาแพทย์ก่อน อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการเดินทาง ไกลในช่วง 6 เดือนแรกของการปลูกถ่ายอวัยวะหากไม่จำเป็น และควรได้รับอนุญาตจากแพทย์ผู้ รักษาก่อน

ยาทาโครลิมัสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

         ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยาทาโครลิมัสที่พบได้บ่อย เช่น

  • อาการปวดหัว
  • อาการตัวสั่น
  • ท้องเสียหรือท้องผูก
  • ความดันโลหิตสูง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ตรวจเลือดจะพบ
    • การทำงานของไตผิดปกติ
    • ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง
    • ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
  • อาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นคันตามร่างกาย
  • ผลต่อไต เช่น ค่าปริมาณของเสียในเลือด (Blood Urea Nitrogen/BUN และ /Creatinine) ของร่างกายสูงขึ้น
  • อาการอื่นๆ เช่น
    • อาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว
    • ไข้ต่ำ
    • หนาวสั่น
    • บวมตามแขน-ขา
    • นอนไม่หลับ

         *อนึ่ง: หากท่านกำลังใช้ยาทาโครลิมัสอยู่หรือกำลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆอยู่และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯดังต่อไปนี้ เช่น มีไข้สูง, ปวดหัวรุนแรง, รู้สึกเหนื่อยหอบ, หายใจไม่ปกติ, อาเจียนอย่างหนัก, ปวดท้องอย่างรุนแรง, ท้องเสียหรือถ่ายท้องอย่างมากจนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง และมีภาวะสมดุลของน้ำและเกลือแร่ผิดปกติ (อาการที่สังเกตได้เช่น เหนื่อย สับสน อ่อนเพลีย อ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว) มีสัญญาณของภาวะติดเชื้อ เช่น มีไข้ (สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส/Celsius) หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีอาการปวดหรือร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปวด บวม แดง และเจ็บตามร่างกาย หรือมีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้นบริเวณช่องปากหรือร่างกาย  หากท่านมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์/ไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สะดวกก่อนวันนัด พร้อมแจ้งแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรว่าท่านกำลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกันต้านทานอยู่

มีข้อควรระวังการใช้ยาทาโครลิมัสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาทาโครลิมัส เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ยานี้มีผลกดไขกระดูกและกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเชื้อฉวยโอกาส รวมถึงการกระตุ้นเชื้อไวรัสที่แฝงอยู่ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี หรือ โรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคไวรัสตับอักเสบ สำหรับบีเคไวรัส (BK virus/ไวรัสชนิดก่ออาการในผู้ ป่วยมีภูมิคุ้นกันฯต่ำ) ดังนั้นในช่วงที่ได้รับยาทาโครลิมัสจำเป็นต้องระวังการติดเชื้อต่างๆ และ/หรือ แพทย์อาจปรับขนาดยาหากผู้ป่วยกำลังอยู่ในภาวะติดเชื้อ
  • ยาทาโครลิมัสสามารถทำให้เกิดความเป็นพิษต่อไตได้โดยเฉพาะถ้าใช้ยานี้ในขนาดสูง แพทย์จะติดตามดูแลผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติใกล้ชิด เนื่องจากอาจจำเป็นต้องลดขนาด ยาทาโครลิมัสลง หรืออาจต้องพิจารณาเปลี่ยนยากดภูมิคุ้นกันตัวอื่นแทนในกรณีแม้ปรับขนาดยานี้ลงแล้วแต่ค่าการทำงานของไตยังไม่ลดลง
  • การใช้ยาทาโครลิมัสในช่วงกำลังตั้งครรภ์: เนื่องจากยานี้สามารถผ่านรกได้และการใช้ยาทาโครลิมัสระหว่างตั้งครรภ์มีความสัมพันธ์กับสภาวะคลอดก่อนกำหนด และไตทำงานบกพร่องในทารกแรกเกิด ดังนั้นการใช้ยาทาโครลิมัสระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะพิจารณาถึงประโยชน์ที่มีต่อแม่ เทียบกับความเสี่ยงของทารกในครรภ์
  • ยาทาโครลิมัสสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นได้หลายชนิด ดังนั้นการติดตามระ ดับยาในเลือดจึงมีความจำเป็น (ศึกษาเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไปคือหัวข้อ ปฏิกิริยาระหว่างยา) เพื่อพิจารณาหลีกเลี่ยงยาที่มีผลให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาหรือปรับขนาดยาโดยแพทย์ผู้ดูแลรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

 ***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด รวมถึงยาทาโครลิมัส ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาทาโครลิมัสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทาโครลิมัสถูกขจัดออกทางร่างกายโดยเอนไซม์ระบบ CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4, เอนไซม์ทำลายยาเพื่อลดการเป็นพิษต่อร่างกาย) เป็นหลัก ดังนั้นสารใดๆก็ตามที่สามารถยับ ยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าวได้ก็จะมีผลลดการขจัดตัวยาลงซึ่งจะส่งผลให้ระดับยาในเลือด เพิ่มสูงขึ้นได้ ในขณะเดียวกันสารใดที่ออกฤทธิ์ในการเหนี่ยวนำให้เอนไซม์ระบบดังกล่าวทำงาน  ได้ดีขึ้นก็จะมีผลให้การขจัดยาทาโครลิมัสเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ระดับยาในเลือดลดลง จึงไม่ควรใช้ยาร่วมกัน

  1. เมื่อมีการใช้ยาทาโครลิมัสร่วมกับยาดังต่อไปนี้จะส่งผลเพิ่มระดับยาทาโครลิมัสในเลือดได้ เช่น 
  • กลุ่มยาลดความดัน เช่นยา ดิวไทอะเซม (Diltiazem), ไนคาดีปีน (Nicardipine), ไนเฟดดีปีน (Nifedipine), เวอร์ราปามิว (Verapamil)                                
  • กลุ่มยาต้านเชื้อรา เช่นยา ยาโครไตรมาโซล (Clotrimazole), ฟูโครนาโซล (Fluconazole), อิทราโครนาโซล (Itraconazole), คีโตโครนาโซล (Ketoconaozle), โวลิโครนาโซล (Voriconazole)                                               
  • ยาต้านเอชไอวี กลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์ (Protease inhibitor) เช่นยา โลปินาเวียร์ (Lopi navir), ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir) ฯลฯ  
  • ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโคไลด์ (Macrolide) เช่นยา คลาลิโทรไมซิน (Clarithromycin), อิลิโทรไมซิน (Erythromycin)                                                                                                                              
  • ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่นยา ซิสซาพาย (Cisapide), เมทโทรโคลพามายด์ (Metoclopramide)
  • ยาชนิดอื่นๆ: เช่นยา ดานาซอล (Danazol), โอมีพลาโซล (Omeprazole) ,    แลนโซพลาโซล (Lansoprazole)   
  1. เมื่อมีการใช้ยาทาโครลิมัสร่วมกับยาดังต่อไปนี้จะส่งผลลดระดับยาทาโครลิมัสในเลือดได้เช่น
  • ยากันชัก เช่นยา ฟีโนบาร์บีทาล (Phenobarbital), คาร์บามาซีปิน (Carbamazepine), ฟีนีทอย (Phenytoin)                                                                                                                                
  • ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
  • ยาวัณโรค เช่นยา ไรแฟมปินซิน (Rifampicin), ไรฟาบูติน (Rifambutin)
  • และยาชนิดอื่นๆ: เช่นยา แคสโปฟังจิน (Caspofungin: ยาต้านเชื้อรา), ยาซัยโรลิมัส (Sirolimus) และสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ธ ( John's wort: สมุนไพรคลายเครียด)
  1. ผู้ป่วยที่กำลังรับยาทาโครลิมัสอยู่ไม่ควรให้วัคซีนที่ยังมีชีวิต (Live vaccine หมายถึงวัคซีนเชื้อเป็นที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่เชื้อยังมีฤทธิ์เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนั้นๆเช่น วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม(วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์) วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนไวรัสโรต้า  และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก เป็นต้น) แก่ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยานี้อยู่ เนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำการฉีดวัคซีนอาจได้ผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันน้อยลงและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็นเหล่านี้ได้

ควรเก็บรักษายาทาโครลิมัสอย่างไร?

แนะนำเก็บยาทาโครลิมัส:

  • เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
  • หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง (มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน)
  • ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ หรือห้องครัว
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาทาโครลิมัสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทาโครลิมัส  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Prograf (โปรกราฟ) 0.5 mg capsules Astellas Pharma
Prograf (โปรกราฟ) 1 mg capsules Astellas Pharma
Prograf (โปรกราฟ) 5 mg/mL 1 mL injection Astellas Pharma
Advargraf (แอดวากราฟ) 0.5 mg prolonged release capsules Astellas Pharma
Advargraf (แอดวากราฟ) 1 mg prolonged release capsules Astellas Pharma

 

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 21th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2013-14.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
  3. Product Information:Prograf: Tacrolimus. Astellas Pharma, Thailand.
  4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
  5. โครงการปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี. สมุดประจำตัวผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะและได้รับยากดภูมิต้านทาน. 2558
  6. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=6&rctype=1C&rcno=5000003&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no=  [2022,April9]