ต้อเนื้อ (Pterygium) ต้อลม (Pinguecula)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 1 ตุลาคม 2554
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ต้อเนื้อคืออะไร?
- ต้อลมคืออะไร?
- ต้อเนื้อและต้อลมมีสาเหตุจากอะไร?
- ต้อเนื้อและต้อลมมีอาการอย่างไร?
- ต้อเนื้อและต้อลมรักษาและป้องกันได้อย่างไร?
- ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นต้อเนื้อ ต้อลม?
- ควรหาหมอตาเมื่อไร?
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- ตาแห้ง (Dry eye)
- ต่อมน้ำตามัยโบเบียนทำงานผิดปกติ หรือ โรคเอ็มจีดี (Meibomian gland dysfunction: MGD)
- ต้อกระจก (Cataract)
- ต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma)
บทนำ
หากเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “ต้อ“ หมายถึงโรคอย่างหนึ่งเกิดที่ลูกตา ทำให้ตาพิการมองอะไรไม่เห็นชัดเจน หรืออาจทำให้ตาบอดได้ มีหลายชนิด ได้มีการนำเอาคำว่า ต้อ นำหน้าโรคตาหลายชนิด โรคตาจึงมี ต้อ ด้วยกันหลายชนิดที่มีความรุนแรงแตกต่างกัน โดยเรียงความรุนแรงจากมากไปน้อย ได้แก่ ต้อหิน ต้อกระจก ต้อเนื้อ (ต้อลิ้นหมา) และต้อลม
ในบรรดาโรคตาต้อที่มีหลายชนิดนั้น ต้อเนื้อและต้อลม เป็นต้อที่พบบ่อยในบ้านเรา และในประชากรประเทศแถบเดียวกับเรา เป็นต้อที่ไม่สู้จะเป็นอันตรายอะไรเท่าไร โดยทั่วไป ตามัก จะไม่มัว ยกเว้นในรายที่เป็นมากๆ แต่มักจะมีอาการ ตาแดง เคืองตา เล็กๆน้อยๆ
ต้อเนื้อคืออะไร?
ต้อเนื้อ (ต้อลิ้นหมา, Pterygium) ความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึงโรคตาที่เกิดจากเยื่อตางอกไปบนกระจกตา ซึ่งเป็นความตรงกับในทางการ แพทย์
ต้อเนื้อ เป็นความผิดปกติของเยื่อตา/เยื่อบุตาบริเวณชิดตาดำที่มีการเปลี่ยนแปลงไปใน ทางเสื่อม กลายเป็นแผ่นเนื้อสีแดงๆรูปสามเหลี่ยม อันเป็นที่มาของคำว่า ต้อเนื้อ หรือ ต้อลิ้น หมา เนื่องจากแผ่นเนื้อดังกล่าวมีสีแดง ยื่นจากตาขาวเข้าสู่ตาดำเหมือนแผ่นเนื้อ อาจจะพบบริเวณหัวตาหรือหางตา ถ้าจะเปรียบตาดำเหมือนหน้าปัดนาฬิกา ต้อเนื้อมักจะเกิดบริเวณ 3 หรือ 9 นาฬิกา ถ้าเกิดที่บริเวณอื่นให้สงสัยว่าจะเป็นโรคอื่นไม่ใช่ต้อเนื้อไว้ก่อน ทั้งนี้เป็นเพราะเยื่อบุตาบริเวณนี้โดน ลม แดด ฝุ่น อยู่ประจำนั่นเอง เมื่อเราลืมตา เยื่อบุตาบริเวณนี้จะถูกลม ถูกแดด มากกว่าบริเวณอื่น ต้อเนื้อนี้จะค่อยๆโตลามเข้าตาดำอย่างช้าๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้หลายๆปี อาจลามเข้าตาดำมากขึ้นๆจนปิดรูม่านตาได้ ถึงระยะนั้นตาจึงจะมัวลง ต้อเนื้อ แม้จะลุกลามไปได้เรื่อยๆ แต่ไม่ใช่มะเร็ง
ต้อลมคืออะไร?
ต้อลม (Pinguecula) ความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง โรคตาซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการถูกลมและแดดบ่อย เป็นผลให้เยื่อหุ้มหัวตาหนาตัว มีสีเหลืองอ่อน อาจกลายเป็นต้อเนื้อได้
ทางการแพทย์ ต้อลมมีลักษณะเป็นก้อนขาว หรือ เหลือง นูนเล็กน้อย อยู่บริเวณเยื่อตา/เยื่อบุตาที่คลุมตาขาวข้างๆตาดำบริเวณ 3 และ 9 นาฬิกาเช่นกัน พยาธิสภาพของต้อลม เป็นแบบเดียวกับต้อเนื้อ คือ เป็นการเสื่อมของเยื่อบุตาบริเวณนั้น แต่พยาธิสภาพมักจะอยู่เฉพาะบริเวณตาขาวไม่เข้าตาดำ เชื่อกันว่าหากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้ป้องกัน ต้อลมก็จะลุกลามเป็นเนื้อเข้าชิดตาดำ กลายเป็นต้อเนื้อไป แต่ไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง
ต้อเนื้อและต้อลมมีสาเหตุจากอะไร?
ที่พิสูจน์ได้แน่ชัดว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงของต้อเนื้อและต้อลม ได้แก่ แสงแดด หรือ แสงอัล ตราไวโอเลต (แสงยูวี) จากดวงอาทิตย์ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการเสื่อมของเยื่อตา/เยื่อบุตาเมื่อได้ รับแสงแดดเรื้อรัง จึงพบโรคนี้ในประชากรประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรที่มีแสงแดดจ้ากว่าประเทศในแถบหนาว และพบในผู้สูงอายุซึ่งต้องกรำแดดมานาน
นอกจากนี้สิ่งที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อตา เช่น ลม ฝุ่น ควัน ตาแห้ง ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคนี้ได้ โรคนี้จึงมักพบในคนทำงานกลางแจ้ง พบบ่อยในหมู่กรรมกรและเกษตรกร
เนื่องจากมีชื่อว่าต้อเนื้อนี่เอง จึงทำให้มีบางคนเข้าใจว่าเกิดจากรับประทานเนื้อ หรือไม่ก็เข้าใจว่า อาหารประเภทเนื้อเป็นของแสลง ที่จริงแล้ว ต้อเนื้อไม่เกี่ยวข้องกับอาหารทั้งสิ้น ผู้ ป่วยต้อเนื้อ ต้อลม จึงสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด
อีกประการหนึ่ง โรคนี้ไม่เป็นกรรมพันธุ์และไม่ใช่โรคติดต่อ แม้จะมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ไม่ ใช่มะเร็ง และไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง ไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิต (ตาย)
ต้อเนื้อและต้อลมมีอาการอย่างไร?
ทั้งต้อเนื้อและต้อลมมักไม่ก่ออาการ ยกเว้นถ้ามีการอักเสบเกิดขึ้น เช่น จากฝุ่นละอองจะทำให้ตาขาวบริเวณนั้นแดง ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองและคันตาได้
ในต้อเนื้อ เมื่อลามเข้าขอบตาดำ อาจทำให้ความโค้งของตาดำเปลี่ยนไป ก่อให้เกิดสาย ตาเอียง ทำให้ตามัวลงได้เล็กน้อย แต่ถ้าลามมากขึ้นจนบังรูม่านตา ตาก็จะมัวลงมาก
แทบไม่น่าเชื่อว่าชาวอีสานของเรามีต้อเนื้อเป็นสาเหตุของตามัวที่สำคัญอันหนึ่ง คงเนื่องจากแสงแดด ความแห้งแล้งของอากาศ ตลอดจนวิถีชีวิตของคนอีสานที่ทำงานกลางแจ้งนั่นเอง ซึ่งคงจะต้องช่วยกันแนะนำวิธีป้องกันและให้การรักษาที่ถูกต้อง
ในต้อลม เมื่อเริ่มเป็นเพียงแค่ก้อนเนื้อนูนสีเหลือง มักจะไม่ก่อให้เกิดอาการอะไร ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์เนื่องจากมองดูไม่สวยงาม บางคนก็ตกใจที่เป็นก้อนเนื้อ คิดว่าจะเป็นเนื้อ ร้ายประเภทมะเร็ง หรือบางคนอาจมีอาการระคายเคืองเล็กน้อย น้ำตาไหลโดยเฉพาะเวลาถูกลม แดด หรือ เวลาอดนอน
ในบางครั้งต้อเนื้อหรือต้อลมเกิดการอักเสบขึ้นมา บริเวณนั้นจะแดง ระคายเคือง คันตามากขึ้น
ต้อเนื้อและต้อลมรักษาและป้องกันได้อย่างไร?
ถ้าท่านได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า เป็นต้อเนื้อหรือต้อลม ก็ไม่ต้องตกใจอะไร เพราะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง การรักษาทำได้ไม่ยาก แต่อย่าได้ใช้วิธีโบราณที่เรียกว่า วิธีตัดต้อด้วยก้านกระเทียมบ้าง กระชายบ้าง เพราะนั่นนอกจากจะไม่หายแล้ว อาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อรุน แรงของตาขึ้นไปอีก
การรักษาต้อเนื้อและต้อลมที่ถูกต้องประกอบด้วย
- ใช้ยาหยอดตา ใช้ในผู้ซึ่งเป็นน้อยๆและมีอาการระคายเคือง ยาหยอดนี้ไม่ใช่รัก ษาต้อให้หาย แต่เป็นเพียงบรรเทาอาการระคายเคืองจากการอักเสบให้ลดลง ให้ตาแดงหายไป และส่วนมากจักษุแพทย์นิยมให้ยาแก้แพ้และยาที่มีฤทธิ์หดหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้ต้อเนื้อที่แดงซีดลงได้
ยาหยอดตาลดการอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ แม้จะได้ผลดีทำให้ผู้ป่วยสบายตาเร็ว แต่ควรหลีกเลี่ยงหรือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะยาดังกล่าว อาจนำมาซึ่งโรคต้อหินหรือต้อกระจก ซึ่งร้ายแรงกว่าต้อเนื้อและต้อลมหลายเท่านัก เข้าทำนองใช้ยารักษาโรคเล็กน้อย จนก่อให้เกิดโรคที่ร้ายแรงกว่า
ข้อสำคัญอีกอันหนึ่งในการใช้ยาหยอดตา ก็คือ ให้หยอดยาเท่าที่จำเป็น หรือตามแพทย์สั่งมิใช่หยอดไปเรื่อยๆ บ่อยครั้งที่แพทย์สั่งให้หยอด 1 ขวด เมื่อหมดขวดแล้วก็นำตัวอย่างไปซื้อมาหยอดเองอีกและหยอดไปเรื่อยๆ ในสภาพการณ์บ้านเราทุกวันนี้ การซื้อยาหยอดตาเป็นไปได้โดยเสรี ใครถือขวดยาตัวอย่างไปซื้อก็ได้ทั้งนั้น ซ้ำร้ายที่พบบ่อยๆ บางทีเพียงแค่บอกว่ามีอาการเจ็บตาเท่านั้น หมอตี๋ก็หยิบยาเข้าสเตียรอยด์มาขายให้เสียแล้ว ตาเรามีเพียง 2 ข้าง ยาหยอดตาอันตรายมีมากมาย อย่าเอาตาของเราไปฝากไว้กับหมอตี๋ตามร้านขายยา จะใช้ยาหยอดตา ควรต้องปรึกษาจักษุแพทย์ หรืออย่างน้อยเภสัชกรก่อนจะดีกว่า
- การผ่าตัด แพทย์จะแนะนำวิธีนี้เมื่อต้อเนื้อหรือต้อลมลุกลามเข้าตาดำมาก และมีทีท่าว่าจะลามต่อไปเรื่อยๆ
แพทย์พบว่าในกรณีที่ผู้ป่วยอายุน้อยและต้อเนื้อยังเป็นไม่มาก หากรีบทำการผ่าตัด โอกาสที่จะเป็นต้อเนื้องอกขึ้นใหม่มีสูงมาก และต้อเนื้อที่งอกขึ้นใหม่มักจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการระคายเคืองมากกว่าเก่าอีก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเพียงต้อลม
ดังนั้น เมื่อแพทย์อธิบายว่าไม่เป็นอันตราย ยังไม่ต้องผ่าตัด ก็ไม่ควรเซ้าซี้ที่จะผ่าตัด มีบ่อยครั้งผู้ป่วยคำนึงถึงความสวยงามมากเกินไป เห็นเป็นก้อนเนื้อไม่สวยอยากจะเอาออก หารู้ไม่ว่า ในบางคนเมื่อเข้าไปลอก/ผ่าตัดแล้ว อาจเกิดต้อเนื้องอกกลับคืนใหม่ซึ่งใหญ่กว่าเก่าได้ เนื่องจากผู้ป่วยยังมีวิถีชีวิตเหมือนเดิม ถูกแดดลมมาก โอกาสโรคกลับคืนจึงมีมาก
อย่างไรก็ตาม หากเป็นมากจนสมควรรับการผ่าตัด วิธีการลอกต้อเนื้อทำได้ไม่ยากนัก ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เพียงแค่หยอดและฉีดยาชาเพียงเล็กน้อย จึงไม่มีอา การเจ็บปวดอะไรมากระหว่างทำ ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที แต่เนื่องจากต้อนี้มีแนวโน้มที่จะกลับ คืน หลังลอกต้อแล้ว แพทย์อาจจะวางแร่รังสีเบตาในบริเวณแผลที่ลอก หรือบางรายอาจใช้ยาหยอดตาบางตัวเพื่อป้องกันการกลับคืนของต้อเนื้อ แต่กรณีที่แพทย์เห็นว่า มีโอกาสโรคกลับ คืนสูง แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดโดยเอาต้อเนื้อออก แล้วปะที่แผลด้วยเนื้อเยื่อบางชนิด เช่น เยื่อบุตา ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องผ่าตัดภายใต้กล้องจุลทรรศน์ และเป็นวิธีที่ป้องกันโรคเกิดซ้ำได้ดีที่สุด
- การป้องกัน ซึ่งเป็นทั้งวิธีรักษาวิธีหนึ่งด้วย ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ต้อเนื้อและต้อลม เกิดจากการเสื่อมของเยื่อบุตาอันเนื่องจากสิ่งแวดล้อม การหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่น ลม ควันไฟ ตลอดจนแสงแดดจ้าๆ จะลดอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้ ดังนั้นหากจะต้องทำงานหรือออกกลาง แจ้งควรใช้แว่นกันแดดเสมอ
ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นต้อเนื้อ ต้อลม?
ถ้าท่านเป็นต้อเนื้อหรือต้อลม ก็ไม่ต้องตกใจอะไร พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่จะก่อ ให้เกิดอาการระคายเคือง สวมแว่นกันแดดกันลมเสมอๆ ไม่ควรหยอดตาพร่ำเพรื่อ ควรใช้ยาเฉพาะที่แพทย์แนะนำให้เท่านั้น
ถ้าแม้ว่าแพทย์แนะนำให้ท่านรับการผ่าตัด ก็มิใช่เรื่องใหญ่แต่อย่างใด ทำผ่าตัดเสร็จ กลับบ้านได้ ใช้เวลารักษาแผล 1-2 สัปดาห์ ตอนผ่าตัดไม่เจ็บปวดอะไรมาก หลังผ่าตัดอาจปวดแผลอยู่ 1-2 วันเท่านั้น และไม่มีอาหารแสลงทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องพักผ่อนอะไรมากนัก และท่านสามารถใช้สายตาได้รวดเร็ว อาจหลังผ่าตัดเพียง 1-2 วันเท่านั้น
ควรหาหมอตาเมื่อไร?
ตาเป็นอวัยวะสำคัญมาก ถึงแม้โรคตาส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เสียชีวิต (ตาย) แต่บางโรคที่ร้ายแรงอาจเป็นสาเหตุของตาบอด และเราไม่มีทางรู้ว่า เราเป็นโรคตาชนิดไหน ดังนั้นเมื่อมีความผิดปกติของตา สายตา หรือ กังวลใจในเรื่องเกี่ยวกับตา ควรรีบพบหมอตา (จักษุแพทย์) เสมอ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน และเริ่มการรักษาแต่เนิ่นๆ เช่น มีแผ่นเนื้อ หรือ ก้อนเนื้อที่เยื่อตา เมื่อไม่เคยมีมาก่อน ถึงแม้ไม่มีอาการก็ควรรีบพบจักษุแพทย์
updated 2014, March 29