ต่อมน้ำตามัยโบเบียนทำงานผิดปกติ หรือ โรคเอ็มจีดี (Meibomian gland dysfunction: MGD)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคเอ็มจีดีคืออะไร? มีอะไรเป็นสาเหตุ?

ต่อมมัยโบเมียน (Meibomian gland) เป็นชื่อต่อมน้ำตาที่เปลือกตา/หนังตา เรียกตามชื่อของแพทย์ชาวเยอรมันที่ชื่อ Hein–rich Meibum) โดยเป็นต่อมน้ำตาชนิดหนึ่งที่เป็นต่อมไขมัน (Sebaceous gland) มีประมาณ 30–40 ต่อมที่เปลือกตาบน และประมาณ 20–30 ต่อมที่เปลือกตาล่าง (ในแต่ละข้างของหนังตา) ทำหน้าที่สร้างน้ำตา (Tear film) ชั้นผิวนอกสุดหรือชั้นไขมัน ที่มีหน้าที่หลักคือ ป้องกันการระเหยของน้ำตา, ทำให้ Tear film มีความคงตัว รักษาสมดุลของผิวตา (Ocular surface) ไว้, และทำให้ลูกตาชุ่มชื้นตลอดเวลา

ภาวะต่อมน้ำตามัยโบเบียนทำงานผิดปกติ (Meibomian gland dysfunction) เรียกย่อๆว่า “โรค/ภาวะเอ็มจีดี/MGD” เป็นโรค/ภาวะที่การทำงานของต่อมมัยโบเบียนทำงานผิด ปกติไป ทำให้ส่วนประกอบของน้ำตา Meibum (น้ำตาที่ผลิตจากต่อมมัยโบเบียน) ผิดไป ใน ทางกายภาพ Meibum ปกติจะใส สีเหลือง ไหลออกมาโดยง่าย เมื่อต่อมมัยโบเมียนทำงานผิด ปกติ ส่วนประกอบของ Meibum ผิดไป ละลายยากขึ้น จึงทำให้มีการอุดตันของรูเปิดของต่อม เมื่อ Meibum ออกมาไม่ได้ ขังอยู่ภายในต่อม จึงเอื้อให้มีแบคทีเรียสะสมในต่อม แบคทีเรียบางตัวสร้างสาร Lipase ซึ่งจะสลายไขมันใน Meibum เกิดเป็นสาร Free fatty acid ที่เป็นสารเคมีก่อให้เกิดการระคายเคือง มีพิษต่อผิวกระจกตา ทำให้กระจกตาอักเสบที่เรียกว่า Punctate keratitis โดยจะสังเกตพบว่า Meibum ที่ออกมาไม่ใส ขุ่นขึ้น หากเป็นมาก จะตามด้วยมีตะ กอนและข้นมากขึ้น จนถึงมีลักษณะข้นคล้ายยาสีฟัน

เมื่อ Meibum/น้ำตาชั้นไขมันผิดปกติ จึงไม่สามารถป้องกันการระเหยของน้ำตาชั้นอื่นๆ เกิดการไม่คงตัวของผิวของน้ำตา (Instability of tear film) จึงเกิดอาการของตาแห้งและอา การอื่นๆทางตาตามมา

อนึ่ง ต่อมมัยโบเมียนมีเส้นประสาทมาเลี้ยงมากมาย และถูกควบคุมการทำงานด้วยสารหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนหลายชนิด (เช่น Androgen, Estrogen, Progestin), กรด Retinoic, และอีกทั้งสารต่างๆอีก เช่น Growth factor, Neurotransmitter/สารสื่อประสาท ซึ่งหากสารเหล่านี้ผิดปกติ การทำงานของต่อมนี้ย่อมผิดไปด้วย โดยส่วนใหญ่เกิดจากปลายท่อต่อมอุดตันจากผิวท่อผิดปกติ (Hyper keratinigation) หรือ Meibum หนืดมาก จากอายุที่มากขึ้น หรือฮอร์โมนต่างๆผิดไป ซึ่งเมื่อต่อมถูกอุดที่ปลายท่อ ตัวต่อมจะขยายจนทำให้เซลล์ในต่อมตายมากขึ้นๆ จนส่งผลให้เซลล์ต่อมนั้นๆสลายตัวและแห้งไป ไม่สามารถสร้างน้ำตาได้อีก

โรคเอ็มจีดีมีอุบัติการณ์และปัจจัยเสี่ยงอย่างไร?

โรคเอ็มจีดี

กล่าวกันว่า ผู้ป่วยที่มีอาการระคายเคือง คล้ายมีผงเข้าตา ไม่สบายตานั้น มีอยู่มากที่เกิดจากโรค/ภาวะ MGD แต่หมอมักจะมองข้ามไป การศึกษาอุบัติการณ์ของโรคแตกต่างกันตามนิ ยามของโรคของแต่ละการศึกษา ทั้งที่ทำในประชากรทั่วไปหรือเฉพาะผู้ที่มีอาการ การศึกษาในประชากรทั่วไปในญี่ปุ่นพบภาวะ MGD 61.9% (ในผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป), ในจีนมีรายงานพบ 68% (อายุมากกว่า 40 ปี), สำหรับประเทศไทยมีการศึกษาของ พญ.เกวลินและคณะใน กทม. พบได้ 46% (อายุ 40 ปีขึ้นไป), การศึกษาในออสเตรเลียพบ 19.9% (อายุมากกว่า 40 ปี)

โดยสรุปพบภาวะนี้ในชาวเอเชียได้ 46–60% แต่คนผิวขาวพบ 3.5–20% ในประเทศไทย มีผู้รายงานพบภาวะ MGD ในผู้ป่วยมีอาการตาแห้งได้ถึง 63.6%

อย่างไรก็ตาม มีผู้กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะ MGD ไว้ดังนี้

  • มีภาวะหรือโรคทางตา เช่น ภาวะไม่มีม่านตา (Aniridia), หนังตา/เปลือกตาอักเสบเรื้อ รัง, ใช้คอนแทคเลนส์, เขียนและใช้เครื่องสำอางบริเวณเปลือกตา , โรคริดสีดวงตา เป็นต้น
  • มีโรคทางกาย เช่น อายุที่มากขึ้น, ขาดฮอร์โมน Androgen, โรคภูมิแพ้, โรคเอสแอลอี/SLE , วัยทอง/วัยหมดประจำเดือน, โรค Pemphigoid, Rosacea, Sjogren, Stephen John son และอื่นๆ
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น Isotretinoin, anti androgen, Antidepressant, แอนติฮิสตามีน (Antihistamine), ฮอร์โมนที่รักษาวัยทอง เป็นต้น
  • ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความสดชื่นของอากาศ การทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์นานๆ เป็นต้น

โรคเอ็มจีดีมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้จากโรคเอ็มจีดี ได้แก่

  • รู้สึกตาแห้ง
  • มีอาการไม่สบายตา เป็นมากตอนตื่นนอน
  • คันตา
  • แสบตา ตาแดง
  • คล้ายมีผง หรือมีอะไรอยู่ในตา
  • ตาสู้แสงไม่ได้/ตาไม่สู้แสง
  • เจ็บตา
  • ใช้สายตาได้ไม่ทน
  • ตาพร่ามัว
  • ใส่คอนแทคเลนส์ไม่ได้

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

อาการของโรค/ภาวะเอ็มจีดี มักจะเริ่มจากน้อย เพียงรู้สึกตาแห้ง ไม่สบายตา แม้ว่าได้พักสายตา ซึ่งถ้าไม่มีปัจจัยที่ทำให้เกิดตาแห้งแล้ว (เช่น ผลข้างเคียงจากยาลดความดันโลหิต) อาจจะเริ่มจากใช้น้ำตาเทียมดูก่อน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลังใช้น้ำตาเทียม ก็ควรพบแพทย์/จักษุแพทย์ เพราะอาจไม่ใช่ตาแห้งธรรมดา แต่เป็นภาวะเอ็มจีดีที่หากรักษาไม่ถูกต้อง จะกลาย เป็นภาวะเรื้อรังที่รักษาได้ยากขึ้น

วินิจฉัยโรคเอ็มจีดีอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคภาวะเอ็มจีดีนี้ได้โดย

  • จากอาการของผู้ป่วยดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ
  • ตรวจตา เพื่อดูอาการแสดงของตาแห้งทั่วๆไป ได้แก่
    • พบน้ำตาเป็นฟองที่หางตา
    • วัดความสูงของระดับน้ำตา (Tear meniscus)
    • วัดปริมาณของน้ำตาด้วยวิธีการที่เรียกวา Schirmer’s test
    • วัดการคงตัวของน้ำตา (Tear break up time)
    • ตรวจดูการอักเสบที่เยื่อบุตาและที่กระจกตาด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Fluorescein staining
  • การตรวจดูการทำงานผิดปกติของต่อมมัยโบเบียน โดย
    • ดูลักษณะกายภาพของขอบเปลือกตา/หนังตา จะพบว่าหนาตัวขึ้น มีหลอดเลือดฝอยข้ามเข้ามาถึงรูเปิดของต่อมมัยโบเมียน ขอบเปลือกตาขรุขระ ทางออกของรูเปิดต่อมมัยโบเบียนมีขอบหนา บวม นูน กว่าปกติ
    • ดูการขับ Meibum ของต่อมมัยโบเบียน (Expressbility) โดยใช้นิ้วกดที่เปลือกตาล่าง ดูว่ามีไขมันออกมามากน้อย ที่จะแสดงถึงความรุนแรงของโรค หากโรครุนแรงกดแล้วจะไม่มีไขมันออกมาเลย
    • ดูคุณภาพของ Meibum ที่ขับออกมาว่ามีลักษณะอย่างไร ตั้งแต่ว่าน้ำใส ซึ่งเป็นเกณฑ์ปกติ ไปจนมีตะกอนหรือข้นเหมือนยาสีฟัน มากน้อยต่างกัน แสดงถึงความรุนแรงของโรค ถ้าข้นมากก็เป็นภาวะที่รุนแรง

โดยอาศัยจากอาการและอาการแสดงข้างต้น มาแบ่งเป็นระยะหรือความรุนแรงของโรค เป็นระยะที่ 1 อาการน้อยสุด, ไปจนระยะที่ 4 ซึ่งมักจะมี Meibum ออกมาแบบยาสีฟัน

นอกจากนี้ แพทย์มักตรวจภาวะอื่นใกล้เคียงที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย เรียกกันว่า “Plus” ภา วะอื่นที่อาจพบ เช่น กระจกตาอักเสบ (Punctuate keratitis), Phlyctenular keratitis trichia sis (ขนตาแยงตา), Chalazion (ถุงอักเสบของต่อมมัยโบเบียน), ในบางรายอาจมีเปลือกตาอัก เสบจากเชื้อปรสิต Demodex ร่วมด้วย เป็นต้น

รักษาโรคเอ็มจีดีอย่างไร?

รักษาโรค/ภาวะเอ็มจีดีโดย หากเป็นโรคในระยะแรกหรือเป็นน้อยๆก็ใช้วิธีรักษาในข้อต้น ๆ แต่ถ้าอาการรุนแรงก็ให้การรักษาไล่ลงไปตามลำดับ ซึ่งการรักษาประกอบด้วย

  • การทำความสะอาดเปลือกตา/หนังตา และประคบอุ่นบนหนังตา การประคบอุ่นจะช่วยละลาย Meibum ทำให้ไหลออกมาได้ ไม่คั่งค้าง ส่วนการทำความสะอาดจะโดยใช้แชมพูสำหรับเด็กบริเวณโคนขนตา เพื่อมิให้เป็นบ่อเกิดของเชื้อโรค นอกจากนี้ มีผู้แนะนำ การนวดเปลือกตาจากบนลงล่างสำหรับเปลือกตาบน และจากล่างขึ้นบนสำหรับเปลือกตาล่าง โดยคลึงไปทางรูเปิดของต่อม จะช่วยระบาย Meibum ให้ออกมาได้
  • หยอดน้ำตาเทียม ช่วยล้างและลดสารที่จะกระตุ้นการอักเสบออกไป อีกทั้งเพิ่มน้ำตา ลดอาการตาแห้ง ส่วนน้ำตาเทียมบางชนิดที่มีส่วนประกอบของไขมัน นอกจากทำให้ตาแห้งน้อยลง ยังอาจชดเชยชั้นไขมันใน Tear film ทำให้อาการดีขึ้นได้
  • ยาหยอดตา ด้วยยาปฏิชีวนะชนิดหยอดหรือป้าย ซึ่งอาจช่วยฆ่าเชื้อแบคที เรียที่มีอยู่บริเวณต่อมมัยโบเบียน ที่มักซ้ำเติมให้มีอาการอักเสบของต่อมมากขึ้น
  • ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Tetracycline ชนิดรับประทาน โดยมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนว่า การใช้ยากลุ่มนี้ได้ผลดี โดยที่ตัวยานี้ไปลดจำนวนของแบคทีเรีย ลดการสร้างสาร Lipase ที่ละลาย Meibum ให้เกิดเป็นสาร Free fatty acid ที่เป็นพิษต่อกระจกตา ตัวยาเป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วย อีกทั้งยาตัวนี้มีคุณสมบัติทาง Anti–angiogenesis (ต้านการเกิดหลอดเลือดผิดปกติ) และ Antiapoptosis (ต้านการตายของเซลล์) ด้วย
  • ยาหยอดตาในกลุ่มยาสเตียรอยด์ มักใช้ในรายที่มี Plus disease ด้วย แต่ต้องระวังผลแทรกซ้อนของยา คือ โรคต้อหิน
  • ยาหยอดตากลุ่ม Cyclosporine มีรายงานว่าใช้ได้ผล แต่ยังสงสัยกลไกการออกฤทธิ์ว่า ยาน่าจะทำให้อาการตาแห้งดีขึ้น ไม่เกี่ยวกับโรคเอ็มจีดีโดยตรง
  • Omega 3/โอเมกา-3 มีรายงานว่าช่วยให้โรคนี้ดีขึ้น แต่ต้องระวังไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับและโรคเลือด เพราะจะทำให้อาการของโรคเหล่านั้นเลวลง

โรคเอ็มจีดีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ส่วนมากของผู้ป่วยโรค/ภาวะเอ็มจีดี มักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่บั่นทอนการทำงานที่ต้องใช้สายตา หากเป็นน้อยยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ถึงขั้นเป็นแผลที่กระจกตา(กระจกตาอักเสบ) มักจะอาการดีและหายได้หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แต่หากละเลย โรคอาจลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เป็นแผลที่กระจกตา ทำให้สายตามัวลงได้

โรคเอ็มจีดีก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน/ภาวะแทรกซ้อน) ที่อาจพบได้จากโรค/ภาวะเอ็มจีดี ได้แก่

  • Chalazion: จากมีการอุดตันของรูเปิด Meibum จึงเกิด Meibum คั่งค้างร่วมกับการเพิ่ม ขึ้นของเนื้อเยื่ออักเสบ (Granular tissue) เกิดเป็น Chalazion ซึ่งทำให้เปลือกตามีตุ่มนูนขึ้น มา และตุ่มนี้อาจกดกระจกตา ทำให้ตามัวจากสายตาเอียงได้
  • Keratinization: เกิดเซลล์ผิดปกติที่สร้างสารเคอราตินที่ขอบเปลือกตาและรอบๆรูเปิดของต่อมมัยโบเมียน ซึ่งอาจจะครูดไปถูกเยื่อบุตา/เยื่อตา และผิวกระจกตา ก่ออาการระคายเคือง และเป็นแผลตามมา
  • Cicatricial entropion: คือ การอักเสบทำให้เป็นแผลเป็น ดึงรั้งทางเปิดของต่อมมัยโบเบียนไปด้านหลัง ขอบตาจึงเสียรูป อีกทั้งทำให้ขนตาม้วนเข้าไปเขี่ยกระจกตา ทำให้เกิดการระคายเคือง อาจทำให้กระจกตาเป็นแผลได้
  • Trichiasis: คือ เกิดการอักเสบเรื้อรังของต่อมมัยโบเมียน ส่งผลให้เกิดแผลเป็นบริเวณขนตา ทำให้ขนตามีทิศทางชี้ลงไปเขี่ยกระจกตา เกิดเป็นแผลที่กระจกตาได้
  • Distichiasis: เชื่อกันว่าต่อมมัยโบเมียนที่อักเสบเรื้อรัง อาจเป็นเหตุให้เกิดมีขนตาผิด ปกติที่งอกออกมาจากรูเปิดของต่อมมัยโบเมียน ทำให้มีขนตาเพิ่มขึ้นมาอีกแถว ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อลูกตา

ทั้งนี้ ผลแทรกซ้อนที่เกิดทั้งหมด หากก่อให้เกิดโทษหรือระคายเคืองต่อลูกตาจากปัญ หาของขนตา ต้องรักษาด้วยการสะกิดขนตาที่ผิดปกติออกไป และ/หรือ อาจรักษาโดยถอนและจี้ขนตา ถ้าเป็นมาก มีขนตาแยงหลายเส้น ต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาให้ขนตาแหงนขึ้น ไม่ไปเขี่ยกระจกตา

นอกจากนี้ ยังอาจพบผลข้างเคียงอื่นๆได้อีก ได้แก่

  • บั่นทอนการทำงาน เนื่องจากอาการจะยิ่งมากขึ้นเมื่อต้องใช้สายตา, เมื่ออยู่ในห้องปรับอากาศที่อากาศจะแห้ง, และจะทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ไม่ทน
  • ผู้ป่วยที่เคยใช้คอนแทคเลนส์ ก็จะใช้ไม่ได้
  • ผู้ป่วยหลายรายจะรู้สึกขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะมีตาแดง หนังตาบวมแดง
  • อาจจะแลดูเสียบุคลิก เพราะตาแดง แลดูเหมือนคนดื่มเหล้าตลอดเวลา

ดูแลตัวเองและป้องกันโรคเอ็มจีดีอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรค/ภาวะเอ็มจีดี และการป้องกันโรคนี้ คือ

  • การมีสุขอนามัยที่ดีบริเวณเปลือกตาเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ สตรีวัยทอง ตลอดจนผู้มีโรคตา โรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวข้างต้นในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง
  • หลีกเลี่ยงการเขียนหรือใช้เครื่องสำอางบริเวณเปลือกตา หากจำเป็นต้องใช้ ควรต้องทำความสะอาดเปลือกตาอย่างดีทุกครั้งหลังใช้เครื่องสำอางเหล่านี้
  • ระยะเริ่มแรกของภาวะนี้ อาจมีอาการเล็กน้อย เพียงระคายเคืองตา แสบตา ใช้สายตามากมีอาการมาก อาจเริ่มลองใช้น้ำตาเทียมช่วย หรือรับการตรวจตาถ้ามีโอกาสจากจักษุแพทย์ จะทำให้แก้ไขภาวะนี้ได้ ไม่เรื้อรัง หรือมีภาวะแทรกซ้อนตามมา
  • ควรปรึกษาจักษุแพทย์เมื่ออาการรุนแรง เช่น เจ็บตา ตาแดง ตามัว น้ำตาไหล ซึ่งแสดงว่าอาจเป็นมากถึงขั้นมีกระจกตาอักเสบแล้ว
  • การซื้อยาหยอดตาใช้เอง (ยกเว้นน้ำตาเทียม) พึงระวังผลแทรกซ้อนจากยาหยอดตาเหล่านั้นด้วยเสมอ โดยเฉพาะยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อหินได้