1. ตลาดโรงพยาบาล – ตอนที่ 8

ข้อมูลจากศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา รายงานว่า นโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical hub) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 นับเป็นแรงขับเคลื่อน (Drive) สำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourism) เติบโตอย่างต่อเนื่อง

โรงพยาบาลเอกชนต่างเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ทำให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล (International) ว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง (Destination) ของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive advantage) ด้านคุณภาพการให้บริการและประสิทธิภาพ (Efficiency) การรักษาที่สูงติดอันดับโลก (World-class)

ขณะเดียวกัน อัตราค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่ได้มาตรฐาน (Standard) การรักษาระดับเดียวกัน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (Nature) ที่เหมาะกับช่วงพักฟื้น (Rehabilitation) และมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน (Accreditation) ในระดับสากล (Joint Commission International: JCI) มากถึง 62 แห่ง

ตัวเลขดังกล่าว สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ซึ่งมี 195 แห่ง), ซาอุดิอาระเบีย (ซึ่งมี 93 แห่ง), และจีน (ซึ่งมี 84 แห่ง) ทั้งยังสูงกว่ามาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญในภูมิภาค เช่น อินเดีย (ซึ่งมี 35 แห่ง), มาเลเซีย (ซึ่งมี 16 แห่ง), และสิงคโปร์ (ซึ่งมี 7 แห่ง)

ในปี พ.ศ. 2562 เว็บไซต์ World’s Best Hospitals for Medical Tourists  จัดให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ของไทยเป็น 1 ใน 5 โรงพยาบาลดีที่สุดในโลกสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ CEOWORLD [นิตยสารสำหรับผู้บริหารระดับสูงทั่วโลก] ยังจัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีระบบการรักษาพยาบาลดีที่สุดอันดับ 6 ของช รองจากไต้หวัน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, และเดนมาร์ก

นอกจากนี้ Numbeo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ ที่มีฐานข้อมูล (Data-base) ใหญ่ที่สุดในโลก ในเรื่องค่าครองชีพ (Cost of living) และคุณภาพของชีวิต (Quality of life) [ซึ่งวัดผลด้วยดัชนีเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย, อัตราอาชญากรรม, คุณภาพการดูแลสุขภาพ ฯลฯ] จัดให้ไทยอยู่อันดับ 8 สำหรับประเทศที่มีระบบสาธารณสุข (Public health) ดีที่สุดในโลก

แหล่งข่าว PPTVhd36 รายงานว่า ลูกค้ากลุ่มท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เป็นลูกค้าสำคัญที่สร้างรายได้ให้โรงพยาบาลเอกชนให้เติบโตในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แต่เมื่อเกิดวิฤต (Crisis) ทำให้รายได้ส่วนนี้ ปรับลดลงจากการงดเดินทางระหว่างประเทศ ต่อมารัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ และเริ่มเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในช่วงครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2565

การยกเลิก Thailand Pass ส่งผลให้รายได้ของโรงพยาบาลเอกชน ที่พึ่งพา (Dependent) รายได้จากผู้ป่วยต่างชาติในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในปี พ.ศ. 2565 ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Gradually recover) แต่คาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

ข้อมูลของกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ (Bangkok Dusit Medical Services: BDMS) ซึ่งเป็นเจ้าตลาด (Market leader) พบว่า รายได้จากผู้ป่วยต่างชาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และขยายตัวอย่างก้าวกระโดด (Lead-frog) มาตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ. 2565 ดังนั้นคาดว่าการเปิดประเทศจะยิ่งช่วยส่งเสริมให้ตลาดกลุ่มท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

แหล่งข้อมูล   

  1. https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Services/Private-Hospitals/IO/io-Private-Hospitals [2023, June 1].
  2. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99/179660 [2023, June 1].