1. ตลาดโรงพยาบาล – ตอนที่ 7

ข้อมูลจากศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา รายงานว่า ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน (Fundamental public health) ในการดำรงชีวิต  แก่ประชาชนในรูปแบบสวัสดิการ (Welfare benefit) สอดรับกับสภาวะของประเทศที่ประชากรมีระดับรายได้ต่อหัวค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal coverage: UC) ของไทย เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของการมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีโดยไม่ต้องจ่ายแพง (Good health at low cost) อันเป็นปัจจัยสำคัญ (Essential) ของความผาสุกของประชาชน

ประเทศไทยได้ประกาศใช้ระบบหลักประกันสุขภาพ (Health insurance) ถ้วนหน้าในปี พ.ศ. 2545 โดยออกเป็นพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันได้ครอบคลุมประชากรถึง 99.92% ของผู้มีสิทธิในระบบนี้ (ประมาณ 66.5 ล้านคน) โดยประชากรไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพของภาครัฐ 3 ในกองทุนหลัก

  1. กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (Universal coverage scheme: UCS) 
  2. กองทุนประกันสังคม (Social security scheme: SSS) และ
  3. กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (Civil servant medical benefit scheme: CSMBS)

การเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพดังกล่าว ทำให้รายจ่ายด้านสุขภาพของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 3.2% ของ GDP ในปี พ.ศ. 2544 เป็น 3.9% ของ GDP ในปี พ.ศ. 2562 โดยภาครัฐมีสัดส่วนรายจ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นเป็น +77% ในปี พ.ศ. 2562 แต่ภาคเอกชนกลับมีการใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลง

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ครัวเรือนไทยในภาพรวม ที่เผชิญวิกฤตการเงิน (Financial crisis) จากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Health expenditure) ลดลงจาก 5.7% ของครัวเรือนทั้งหมดในปี พ.ศ. 2546 เหลือเพียง 2.3% ของครัวเรือนในปี พ.ศ. 2560

ข้อมูลจากแหล่งข่าว PPTVhd36 รายงานว่า คนไทยตื่นตัวในเรื่องของการดูแลสุขภาพจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับปานกลาง (Middle income) ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) รายงานการศึกษา เรื่องประมาณการค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพในอีก 15 ปีข้างหน้า

TDRI พบว่า อัตราการใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าแปรผกผัน (Reverse) กับรายได้ กล่าวคือ เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น อัตราการใช้สิทธิจะลดลง เพราะยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อไปโรงพยาบาลเอกชน หรือซื้อประกันสุขภาพ เพราะต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น

เบี้ยประกัน (Premium) สุขภาพรวมในครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2565 มีมูลค่ารวมมากกว่าเบี้ยประกันสุภาพในครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2562 ถึง 1.3 เท่า โดยศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงไทย มองว่า การขยายตัวของการประกันสุขภาพยังมีช่องทางเติบโต เนื่องจากเบี้ยประกันสุขภาพรวมต่อจำนวนประชากรยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ในปี พ.ศ. 2564 มีค่าเพียง 1,691 บาทต่อคน

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Services/Private-Hospitals/IO/io-Private-Hospitals [2023, May 19].
  2. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99/179660 [2023, May 19].