1. ตลาดโรงพยาบาล – ตอนที่ 30

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน (Private hospital) ปี พ.ศ. 2566 เติบโต 15% ดันรายได้ (Revenue) 3.2 แสนล้านบาท โดยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของตลาด (Market recovery) ในประเทศและตลาดต่างประเทศ คาดการลงทุนเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical tourism) จะช่วยสร้างความต้องการ (Demand) รักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่ฟื้น (Business recovery) กลับมาได้เร็วหลังการแพร่ระบาด (Pandemic) ของไวรัสโควิด-19 โดยการแพร่ระบาดที่เริ่มเกิดขึ้น (Emerging) ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ภาครัฐมีการประกาศปิดประเทศ (Lock-down) จำกัดการเดินทาง (Limited travel) และการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศ (Domestic)

รวมถึงไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติ (Foreigner) เดินทางเข้าประเทศเพื่อป้องกันการระบาดในวงกว้าง (Wide-spread) ส่งผลกระทบทำให้คนไทยและชาวต่างชาติไม่สามารถเข้าถึง (Access) การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนได้ ทำให้รายได้ในปี พ.ศ. 2563 ลดลงกว่า -14.3%

อย่างไรก็ดี เมื่อการฉีดวัคซีนป้องกัน (Preventive vaccination) ไวรัสโควิด-19 ครอบคลุม (Cover) ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ภาครัฐจึงผ่อนคลาย (Relax) มาตรการจำกัดดังกล่าว รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนได้รับผลดี (Benefit) จากการเข้ารักษาของผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้รายได้พลิกฟื้นกลับ (Turn around) มาขยายตัว +28.2% ในปี พ.ศ. 2564

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยฟื้นตัวในทุกภูมิภาค (Region) โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งจ้างงาน (Employment) ที่สำคัญ แม้ว่าผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกแรก (First round) ทำให้รายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนหดตัวลง (Shrink) อย่างมากในปี พ.ศ. 2563 แต่ในปี พ.ศ. 2564 ก็ฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับปกติ (Normal level) ได้

และเมื่อพิจารณาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2564) จะพบว่ารายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เติบโตเฉลี่ยกว่า +7.7% ต่อปี แม้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังมีแนวโน้ม (Trend) เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง (Continuous growth)

เมื่อเจาะลึกการฟื้นตัวเป็นรายภูมิภาคจะพบว่า กรุงเทพฯ+ปริมณฑล (Bangkok metropolis), และภาคตะวันออก ซึ่งมีสัดส่วนรายได้รวมกว่า 80% ของรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนโดยรวม (Overall) เป็นภูมิภาคที่ฟื้นได้ดีหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากเป็นแหล่งจ้างงานของประเทศ 

โดยในปี พ.ศ. 2564 กรุงเทพฯ+ปริมณฑล และภาคตะวันออก ขยายตัว +29.0% และ +24.7% (ตามลำดับ) จากปี พ.ศ. 2563 ซึ่งหดตัว -16.3% และ -9.3% (ตามลำดับ) ในขณะที่ ภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรวมกัน 8.5% ของรายได้โดยรวม มีอัตราของการฟื้นตัวเช่นกัน

โดยในปี พ.ศ. 2564 รายได้ในภาคใต้และภาคกลางขยายตัว +35.7% และ +30.0% (ตามลำดับ) จากปี พ.ศ. 2563 ที่หดตัวลง -7.6% และ -2.7% (ตามลำดับ) ส่วนภาคอีสานและภาคเหนือ แม้ว่าจะเป็นภูมิภาคที่ประชากรส่วนใหญ่กว่า 80% ของประชากรในพื้นที่ใช้บริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลภาครัฐ (Public hospital) เป็นหลัก

แต่พบว่ารายได้ของโรงพยาบาลเอกชนก็ฟื้นตัวไม่ต่างกัน โดยในปี พ.ศ. 2564 ภาคอีสาน และภาคเหนือ ขยายตัว +26.8% และ +18.8% (ตามลำดับ) จากปี พ.ศ. 2563 ที่หดตัว -12.8% และ - 8.0% (ตามลำดับ) จะเห็นว่ารายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้ฟื้นกลับมาในทุกภูมิภาคของประเทศ

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.ttbbank.com/th/analytics/business-industry/tourism-healthcare/20220922-ttb-analytics-private-hospital-outlook2022 [2024, April 4].
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/COVID-19_lockdowns [2024, April 4].