4. ตลาดเครื่องมือแพทย์ - ตอนที่ 9

นวัตกรรมจากผู้ประกอบการในช่วงการระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ของไวรัส COVID-19 ได้แก่ หน้ากาก (Mask) พลาสติกสำหรับป้องกันสารคัดหลั่ง (Secretion) กระเด็นเข้าตาหรือใบหน้า, หน้ากากอนามัยแบบผ้า (Cloth), และเจลแอลกอฮอล์ (Alcohol gel) ซึ่งมีต้นทุนการผลิตในระดับต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีการนำอุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ขั้นสูง (Advanced medical device) มาใช้มากขึ้น เช่น การนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ (Robot) ช่วยดูแลผู้ป่วย COVID-19 และหุ่นยนต์ที่ช่วยประเมิน, ดูแล, และฟื้นฟูผู้ป่วยติดเชื้อ (Infected patient) ทำให้ผู้ป่วยและบุคลากรการแพทย์ (Health-care professional) ติดต่อหรือสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องสัมผัส (Contact-less)

ปัจจุบัน มีการใช้หุ่นยนต์ดังกล่าวที่ รพ. บำราศนราดูร, รพ. ราชวิถี, และ รพ. โรคทรวงอก รวมถึงการผลิตชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ (Personal protective equipment: PPE) เพื่อใช้ในห้องปฏิบัติงานที่ดูแลผู้ป่วย เป็นต้น นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการเร่งผลิตเพื่อส่งออกนวัตกรรมต่างๆ สู่ตลาดโลก

ปี พ.ศ. 2563 มูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศเติบโต +3.0% ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (Medical supplies) เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้อุปกรณ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ในช่วงสถานการณ์ COVID-19

แม้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมูลค่าไม่สูงนัก แต่มูลค่าการส่งออกยังคงเติบโต +20% ขณะที่การนำเข้าของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงอย่างกลุ่มครุภัณฑ์การแพทย์ (Medical equipment) ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่ลดลง โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2563 จากความกังวล (Worry) ต่อสถานการณ์การแพร่กระจาย (Wide-spread) ของเชื้อ COVID-19

อัตราการขยายตัวของการส่งออก เกิดจากความต้องการผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์และกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (Diagnostic kit) ระหว่างปี พ.ศ. 2564 ถึง พ.ศ. 2565 มูลค่าการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศเติบโตเฉลี่ย +6.5% ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออกเฉลี่ยที่ +5.0% ต่อปี

การเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งกลุ่มโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยโรคติดต่อสำคัญที่มีอัตราการเจ็บป่วยสูงที่สุด คือ โรคท้องร่วง (Diarrhea), โรคปอดอักเสบ (Pneumonia), และโรคไข้เลือดออก (Dengue)

ส่วนโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable disease: NCDs) เรื้อรัง ที่มีอัตราการป่วยใหม่ต่อประชากรสูงที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง (High blood pressure) รองลงมา คือ โรคเบาหวาน (Diabetes), โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(Chronic obstructive pulmonary disease: COPD), และโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardio-vascular disease) ตามลำดับ

นอกจากนี้ จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนมากมีภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง มีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด รองลงมาคือ โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดในสมองตีบ (Cerebral ischemic disease), และโรคมะเร็ง (Cancer) ส่งผลให้ความต้องการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์การตรวจวินิจฉัยโรค (Diagnostic equipment)

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Other-Industries/Medical-Devices/IO/medical-devices [2023, June 18].
  2. https://www.thailandmedicalhub.net/policy [2023, June 18].