4. ตลาดเครื่องมือแพทย์ - ตอนที่ 8

ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2563 การแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ความต้องการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ (Medical device) ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง (Medical supplies) ประเภทใช้แล้วทิ้ง (Disposable) เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ (Medical glove), หน้ากากอนามัย (Mask), และหลอดเจาะ/เข็มฉีดยา (Syringe)

รวมถึงกลุ่มน้ำยา (Re-agent) และชุดวินิจฉัยโรค (Diagnostic set) จากความต้องการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ส่งผลให้มูลค่าการค้าของเครื่องมือแพทย์ 2 ประเภทดังกล่าวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 22.3% และ 4.4% (ตามลำดับ) ของมูลค่าการค้าเครื่องมือแพทย์ทั้งหมดของโลก จากสัดส่วน 20.6% และ 4.1% (ตามลำดับ) ในปี พ.ศ. 2562

สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีการนำเข้าหน้ากากอนามัยสูงสุดคิดเป็นสัดส่วน 25.0% ของมูลค่านำเข้าหน้ากากอนามัยทั่วโลก รองลงมาคือ ญี่ปุ่น (สัดส่วน 12.0%), ฝรั่งเศส (สัดส่วน 11.0%), และเยอรมนี (สัดส่วน 7.2%) ส่วนประเทศที่ส่งออกหน้ากากอนามัยมากที่สุด คือ จีน คิดเป็นสัดส่วน 87.9% ของมูลค่าส่งออกหน้ากากอนามัยทั่วโลก รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา (สัดส่วน 1.1%) และเยอรมนี (สัดส่วน 1.0%)

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยังคงทวีความรุนแรง จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกสูงกว่า 24 ล้านคน ทำให้หลายประเทศ (รวมถึงไทยด้วย) ชะลอการส่งออกเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ในประเทศก่อนเป็นลำดับแรก ตัวอย่างเช่น ไทยควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงธันวาคม พ.ศ. 2563

การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทยโดยรวมซบเซาลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2563 ทำให้การผลิตโดยรวมหยุดชะงัก โดยในช่วงครึ่งแรกของปีดังกล่าว ดัชนีผลผลิต (Production index: PI) ของอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์และทางทันตกรรมหดตัว -23.2% จากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม การผลิตในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ประเภทใช้แล้วทิ้ง เช่น หน้ากากอนามัย (ที่ได้รับอนุญาต), ถุงมือยาง, และชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ในประเทศและตลาดส่งออก อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นกรณีพิเศษจากภาครัฐในช่วงสถานการณ์ COVID-19 

ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2564 มูลค่าการส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทยเพิ่มขึ้น +37.1% อยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท ส่วนมากเป็นการเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่นและจีน โดยกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (ซึ่งมีสัดส่วน 88.8% ของมูลค่าส่งออกเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด) เพิ่มขึ้น +37.2%, กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ (สัดส่วน 9.4%) เพิ่มขึ้น +28.5% และกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (สัดส่วน 1.7%) เพิ่มขึ้น +97.6%

มูลค่าการนำเข้าเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น +29.2% อยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ (สัดส่วน 41.7%) เพิ่มขึ้น +29.2%, กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (สัดส่วน 37.8%) เพิ่มขึ้น +16.0% และกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (สัดส่วน 20.4%) เพิ่มขึ้น +63.6% การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการไทยเร่งคิดค้น พัฒนาและผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Other-Industries/Medical-Devices/IO/medical-devices [2023, June 4].
  2. https://www.thailandmedicalhub.net/policy [2023, June 4].