5. ตลาดอาหารเสริม - ตอนที่ 8

แนวโน้ม (Trend) ของอาหารเสริมทั่วโลก โดยใช้ข้อมูลจาก 3C Live EP29 แสดงกระแสตลาดโภชนเภสัช (Nutraceutical) ระหว่าง ปี พ.ศ. 2566 ถึง พ.ศ. 2571 สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ด้วยปัจจุบันมีเจ้าของหลายยี่ห้อ (Brand) เริ่มทำอาหารเสริมมากขึ้น

การปรับปรุงข้อมูลให้ทันกาล (Update) อยู่ตลอดเวลา จะทำให้ผลิตภัณฑ์มีโอกาสเกิดขึ้นในท้องตลาด ตามแนวโน้มของอาหารและเครื่องดื่ม ที่ผู้คนทั่วโลกเห็นความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ข้อมูลการวิจัยจาก Mintel [บริษัทวิจัยการตลาดระดับากล] เปิดเผยถึงแง่มุมของแนวโน้มอาหารและเครื่องดื่มจากทั่วโลกปี พ.ศ. 2566 และอีก 5 ปี ข้างหน้า

  • ต่อสู้กับสภาพอากาศ โดยผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกผลิตภัณฑ์ที่ต่อสู้กับสภาพอากาศและการเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพ
  • จิตใจปลอดโปร่ง โดยผู้บริโภคมีความต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยในเรื่องของจิตใจ ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ Mental Health ที่กำลังเป็นกระแสมาแรงในปีนี้ ปัจจุบันปัญหาเรื่องสภาพจิตใจเป็นปัจจัยหลักทำให้สมาธิและประสิทธิภาพการทำงานระหว่างวันลดน้อยลง นั่นหมายความว่าผู้บริโภคต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการคิดและการจัดการความเครียด เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมองได้

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นแนวโน้ม (Trend) ของผู้บริโภค ต้องการอาหาร, เครื่องดื่ม, และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยในเรื่องการนอนเพื่อสุขภาพกายที่แข็งแรงและสุขภาพจิตที่ดี โดยจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลอีกด้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมาประชากรโลกมีความเครียดสูงขึ้น

สาเหตุความเครียดนี้ก็ยังคงเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไปทั่วโลกของไวรัสโควิด 19 ที่สร้างความกังวลเป็นระยะยาว นอกจากนี้ ปัญหาเงินเฟ้อของเศรษฐกิจย่ำแย่จากการเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเครียดทางด้านจิตใจ

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2566 แนวโน้มของอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยแก้ปัญหาทางด้านจิตใจได้ ก็จะเป็นที่ต้องการผู้บริโภคจำนวนมาก โดยมีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) และ พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) เป็นวัตถุดิบ ในการนำมาบำบัดและผ่อนคลายอารมณ์ กล่าวคือส่งผลต่อสุขภาพที่ช่วยลดความเครียดในจิตใจได้

โพรไบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็ก จัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี สามารถพบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว, โยเกิร์ต, กิมจิ, และ มิโสะ ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว จุลินทรีย์ดังกล่าวมีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดเลว ส่วนพรีไบโอติกส์ คืออาหารชนิดที่ไม่มีชีวิต โดยที่ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก จึงสามารถเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ ทำให้กระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรีย พบได้ในหัวหอม, กระเทียม, ถั่วเหลือง, ถั่วแดง, และเส้นใย (Fiber) ในผักและผลไม้ต่างๆ

แหล่งข้อมูล –

  1. https://blog.3co.th/update-nutraceutical-trend-2023 [2023, June 5].
  2. https://www.sbcs.co.th/th/articles/?p=161 [2023, June 5].
  3. https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/july-2019/probiotics-and-prebiotics [2023, June 5].