6. ตลาดห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ – ตอนที่ 8
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 7 มิถุนายน 2566
- Tweet
ในปัจจุบัน ความท้าทายของธุรกิจต่างๆ ยังคงอยู่ที่ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก (World economy), โอกาสของการแพร่ระบาดต่อของไวรัส COVID-19, เงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อเนื่อง, ตลอดจนต้นทุนค่าขนส่ง (Logistics) ที่สูงขึ้น ส่วนปริมาณสินค้ากลุ่มอาหารที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดมากขึ้น รวมถึงน้ำหนักการกระจายการลงทุนออกสู่ภูมิภาค (Regional investment) มากขึ้นของผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตของการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทย
ข้อมูลการวิเคราะห์ตลาดปี พ.ศ. 2564 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุไว้ว่า ระหว่างและหลังวิกฤตไวรัส COVID-19 ด้วยสภาพตลาดที่เปลี่ยนไปในวิถีชีวิตใหม่ (New normal) ผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานสินค้ามากขึ้น อีกทั้งมาตรการทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่ออนาคต
อนาคตดังกล่าวคือการตระหนักถึงสุขอนามัย, สิ่งแวดล้อม, สังคม, และธรรมาภิบาล (Good governance) มากขึ้นในฝั่งของผู้บริโภค โดยสินค้าที่มีโอกาสทางการตลาดสูง คือ อาหารสุขภาพ (Functional), อาหารธรรมชาติ (Organic), โปรตีนทางเลือกจากพืชและแมลง, อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน, รวมถึงเครื่องปรุงรสอาหารและสมุนไพร (Herb)
อาหารและเครื่องดื่มเป็นสินค้าส่งออก ที่มีศักยภาพ (Potential) ในการเติบโตในเกณฑ์ดี เมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกทั้งหมดที่หดตัวลง ตั้งแต่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2563 โดยที่มูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยอยู่ที่ 20,967 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 700,000 ล้านบาท) แม้จะขยายตัว 3.6% จากปีก่อน
สาเหตุอาจเป็นเพราะอาหารคือสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ และไทยเองก็มีความพร้อมด้านการผลิต ภายใต้การรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่ค่อนข้างทำได้ดี ท่ามกลางการแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ของไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลให้คู่แข่งขันบางประเทศจำเป็นต้องหยุดสายการผลิตไปชั่วคราว จึงทำให้คู่ค้าคงความเชื่อมั่นและมีคำสั่งซื้อกับไทยอย่างต่อเนื่อง
คู่ค้าหลักอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, และจีน ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสูงกว่าในช่วงปรกติ และยังรวมถึงคู่ค้าใหม่ที่มีความต้องการสินค้าอาหารจากไทยในอัตราเร่ง เช่น สิงคโปร์ที่เพิ่มการนำเข้าไก่สด และฮ่องกงที่เพิ่มการนำเข้าสุกรสด เนื่องจากการผลิตอาหารเหล่านี้ ภายในประเทศไม่เพียงพอ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2563 การส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยไปยังตลาดโลกอยู่ที่ระดับ 24,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 850,000 ล้านบาท) ซึ่งขยายตัวได้ 3.0% จากปีก่อน โดยที่สินค้าทีส่วนมากได้อานิสงส์ (Benefit) จากการที่ไทยมีมาตรฐานการผลิต (Manufacturing standard) สูงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ประเด็นสำคัญ คือการตอบสนองความต้องการของการใช้ชีวิตในวิถีใหม่ของผู้บริโภค ท่ามกลางและหลังวิกฤตโรคระบาด (สะอาด-ปลอดภัย-เก็บได้นาน-สะดวก-ทำกินเองได้ง่าย) ซึ่งรวมทั้ง สินค้าปศุสัตว์ (โดยเฉพาะไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง), ผลไม้ (สดและแช่เย็น-แช่แข็ง), และกลุ่มอาหารแปรรูป (กลุ่มอาหารทะเลและผัก)
ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเดินหน้าไปยังธุรกิจใด ความสำคัญคือ มาตรฐานที่ทุกผลิตภัณฑ์จะต้องคงยึดมั่น โดยบริการห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์อุตสาหกรรม (Industrial laboratory) ในการทดสอบสินค้าอาหารตามมาตรสากล ISO 17025 (ISO/IEC 17025) ที่ทั่วโลกต่างยอมรับ ซึ่งยกระดับความเชื่อมั่น ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ซื้อ-ผู้บริโภคทั่วโลก ในเวลาเดียวกัน
แหล่งข้อมูล –
- https://www.thansettakij.com/business/451414 [2023, June 6].
- https://www.iso.org/ISO-IEC-17025-testing-and-calibration-laboratories.html [2023, June 6].