6. ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ - ตอนที่ 7
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 25 พฤษภาคม 2566
- Tweet
นโยบาย “เซ็นทรัลแล็บไทย” คือ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือยกระดับสินค้าวิสาหกิจชุมชน (OTOP) และผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ทั่วประเทศ เป็นห้องปฏิบัติการของรัฐที่เปิดดำเนินงานมาแล้วเกือบ 20 ปี ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการ 6 สาขา ตั้งอยู่ครอบคลุมทุกภูมิภาค (Region) ของประเทศ อันได้แก่ เชียงใหม่, ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา, สมุทรสาคร, สงขลา, และกรุงเทพฯ
ห้องปฏิบัติการแห่งนี้ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 เพื่อรองรับปีแห่งอาหารปลอดภัยของประเทศไทย (Thailand Food Safety Year 2004) โดยมุ่งเน้นการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารเป็นหลัก ด้วยความ ถูกต้อง, แม่นยำ, และรวดเร็ว โดยเฉพาะบริการการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop & fast services) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ของผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า, ผู้ผลิต, และผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ
บริษัทมีเครื่องมือและระบบมาตรฐานสากล สามารถรองรับงานตรวจวิเคราะห์ได้มากกว่า 2 แสนตัวอย่างต่อปี โดยมีตราสัญลักษณ์ Q ที่หมายถึงคุณภาพ และธงชาติไทยที่ฐานของ Q ที่แสดงถึงความเป็นรัฐ ซึ่งจะตอบสนองต่อความปลอดภัยของสินค้าไทยที่จำหน่ายไปทั่วโลก
ลูกค้าเป้าหมาย คือกลุ่มผู้ส่งออก กลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจการเกษตรวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ โดยผู้ประกอบการสามารถติดต่อได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางอิเล็กทรอนิกส์, ช่องทางเว็บไซต์, ติดต่อที่สาขา, หรือมีตัวอย่างให้พนักงานไปรับได้
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีห้องปฏิบัติการของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (Bureau of Quality and Safety of Food) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 และข้อกำหนดและเงื่อนไขการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบด้านการแพทย์ (Medical) และสาธารณสุข (Public health)
ห้องปฏิบัติการแห่งนี้ สามารถทดสอบอาหาร, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (Herb), และยาเสพติด (Narcotics) สามารถรับรายงานผลการทดสอบเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Report) โดยส่งคำขอ (E-Submission) ผ่านระบบรับ-ส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ (iLab Plus) หรือแจ้งเจ้าหน้าที่รับตัวอย่างเมื่อมาส่งตัวอย่าง หากยื่นคำขอผ่านระบบมาแล้ว ไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มเพื่อส่งตัวอย่างอีก
คู่แข่งขันในวงการระดับรัฐด้วยกัน คือองค์กรตรวจสอบและรับรองแห่งชาติจีน (CCIC) ซึ่งเป็นองค์กรข้ามชาติที่ดำเนินการตรวจสอบ,ประเมินผล, รับรอง, และทดสอบสินค้า โดยก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2523 CCIC เป็นองค์กรตรวจสอบรับรองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นหน่วยงานบุคคลที่ 3 เพียงแห่งเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ใช้คำว่า “แห่งชาติจีน” ในชื่อองค์กร
องค์กรนี้ มีคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินแห่งรัฐภายใต้รัฐสภาจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริหารงานและกำกับดูแลโดยสำนักงานกำกับดูแลการตลาดแห่งชาติจีนและด่านศุลกากร (Customs) จีน เครือข่ายบริการครอบคลุมถึง 34 ประเทศ, หน่วยงานสาขามากกว่า 400 แห่งทั่วโลก, และห้องปฏิบัติการกว่า 200 แห่ง มี 2 สัญลักษณ์ใหญ่ อันได้แก่ CCIC และ CQC ทำให้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาดและกลุ่มลูกค้าจีน
แหล่งข้อมูล –
- http://bqsf.dmsc.moph.go.th/bqsfWeb/index.php/service/ [2023, May 24].
- https://www.centrallabthai.com/index.php/th/articles/320-13250102256 [2023, May 24].
- https://th.ccicthai.com/ [2023, May 24].