6. ตลาดห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ - ตอนที่ 6

ตลาดห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์

สำหรับตลาดอุตสาหกรรมห้องปฏิบัติการ (Laboratory industry) ของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีมูลค่าตลาดรวม (Total market value) กว่า 7,000 ล้านบาท โดยบริษัทไทยคือ “เซ็นทรัลแล็บ” (Central Laboratory) อยู่ในลำดับที่ 4 และมีส่วนแบ่งตลาด (Market share) ประมาณ 10%

ทั้งนี้หากในอดีต รัฐบาลไม่ได้ก่อตั้ง เซ็นทรัลแล็บ ขึ้นมา เชื่อว่าห้องแล็บไทยรายอื่นๆ ซึ่งเป็นรายย่อยก็คงไม่ได้เกิด และคงอยู่ในมือต่างชาติหมด อย่างน้อยก็เป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการที่จะช่วยไม่ให้เงินตราไหลออกนอกประเทศ และใช้เป็นเครื่องมือในการเปรียบเทียบราคา (Comparative pricing) ทำให้ผู้ประกอบการมีอำนาจต่อรอง หากต้องการใช้บริษัทต่างประเทศในไทย

ทั้งนี้มิได้หมายความว่า บริษัทต่างชาติ (Multi-national company: MNC) ไม่ดี เพราะได้มีการว่าจ้าง (Employment) คนไทย อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในอีกมิติหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่สได้ว่า บริษัทต่างชาติก็ต้องมีผลกำไร คืนสู่บริษัทแม่ที่เป็นต้นทางในรูปแบบของเงินปันผล (Dividend remittance)

ต้องยอมรับว่าประเทศไทย ให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพน้อยมาก โดยดูจากเรื่องมาตรฐานสากล (International Standard Organization: ISO) ซึ่งเป็นเรื่องปรกติในวงการ แต่คนไทยกลัวมีค่าใช้จ่าย กลัวการตรวจสอบไม่ผ่าน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนทัศนคติ (Attitude) ของคนไทยเรื่องตรวจสอบ ว่าไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่เป็นเรื่องที่ทำให้แข็งแกร่งขึ้นเมื่อผ่านการรับรองคุณภาพแล้ว

ในส่วนของเซ็นทรัลแล็บ มีจุดเด่นเรื่องเครื่องมือและระบบมาตรฐานการตรวจสอบที่เป็นสากลมากที่สุดในประเทศไทย มีทั้งออกไปตรวจข้างนอกและมีตรวจห้องแล็บข้างใน ด้วยพนักงาน 450 คน ซึ่งให้บริการครบเครื่องแต่คนไม่ค่อยรู้จัก ประเด็นนี้คือความท้าทายที่ต้องเอาชนะให้ได้

“เซ็นทรัลแล็บไทย” หรือ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนพ.ศ. 2546 ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง 49% และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อีก 51% นับเป็นห้องปฏิบัติการของรัฐที่มีเครื่องมืออุปกรณ์พร้อมทุกอย่าง

นอกจากนี้ ยังมีระบบมาตรฐานสากลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 มากกว่า 1,000 รายการทดสอบ (Test) รองรับงานทดสอบได้มากกว่า 2 แสนตัวอย่าง (Specimen) ต่อปี โดยมีวิสัยทัศน์และนโยบายที่ชัดเจนในการการขับเคลื่อนองค์กร ด้วยขอบเขตงานที่ครอบคลุมเกินกว่าห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Medical laboratory)

หนึ่งในพันธกิจหลักของ เซ็นทรัลแล็บไทยก็คือ การยกระดับสินค้าโอท็อป-เอสเอ็มอี (OTOP = One Tumbon, One Product ของธุรกิจ SME (= Small and Medium-sized Enterprise) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แข่งขันได้ทั่วโลก

ในวงการนี้ ยังมีคู่แข่งชื่อ บริษัท ซีซีไอซี (ประเทศไทย) จำกัด (CCIC) จากประเทศจีน ซึ่งมีบันทึกลงนามความร่วมมือด้านวิชาการกับประเทศไทย ผ่านช่องทางด่วน (Fast track) โดยมีสติกเกอร์ QR Code เพื่อส่งผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน องค์กร CCIC ในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2530 ปัจจุบันมีพนักงานร่วม 100 คน

แหล่งข้อมูล – 

  1. https://www.thansettakij.com/business/451414 [2023, May 10].
  2. https://th.ccicthai.com/ [2023, May 10].