6. ตลาดห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ – ตอนที่ 41

  1. กลยุทธ์ด้านราคา (Pricing) – จากการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าเครื่องมือ (Equipment) และน้ำยา (Reagent) ในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จำเป็นต้องนำ 4 ปัจจัย มาร่วมในการสร้างกลยุทธ์การตลาด (Marketing strategy) อันได้แก่
    • ปัจจัยทางด้านความสามารถในการชำระเงิน (Ability to pay) กล่าวคือ การจัดเก็บรายได้จากผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชน หรือเรียกเก็บจากหน่วยงานภาครัฐของห้องปฏิบัติการแต่ละแห่ง ซึ่งในปัจจุบัน อาจแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบคือ
      • ผู้เข้ารับบริการรับผิดชอบและชำระค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์เอง (Self-pay) โดยปรกติหากผู้ป่วยเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชน (Private) ห้องปฏิบัติการภาคเอกชน หรือแม้แต่โรงพยาบาลของภาครัฐ (Public) ที่เปิดให้บริการในรูปแบบนอกเวลาราชการ (เช่น คลินิกพิเศษ และคลินิกนอกเวลาราชการ) หรือผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมายให้สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษา (รวมค่าตรวจวิเคราะห์) ในโรงพยาบาลเอกชน
      • ผู้เข้ารับบริการใช้สิทธิการเบิกจ่ายค่าตรวจวิเคราะห์โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ในปัจจุบันจากนโยบายภาครัฐที่มีนโยบายส่งเสริมสุขภาพ (Health promotion) ให้แก่ประชาชน ในด้านการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลภาครัฐ และให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึง (Access) การรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น จึงได้กาหนดให้ทางภาครัฐสนับสนุน (Subsidize) ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง และได้มีการกำหนดให้มีหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ในการควบคุม (Control) และกำหนดรายการเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการให้การรักษาและตรวจวินิจฉัยโรค (Diagnosis) การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมถึงราคาค่าตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้วย โดยให้กรมบัญชีกลาง (Comptroller General’s Department) เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งหากผู้ป่วยใช้สิทธิดังกล่าว และใช้เวชภัณฑ์ตามที่มีกำหนดไว้ในรายการของกรมบัญชีกลาง ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิเบิกค่าใช้จ่าย (Reimburse) ดังกล่าวตามราคาที่กำหนดไว้โดยไม่ต้องชำระเอง ซึ่งรายการ (List) และราคาของเวชภัณฑ์ที่จำเป็นดังกล่าว จะมีการปรับปรุงเพื่อให้ทันสมัย (Update) อยู่เสมอ
    • ปัจจัยทางด้านต้นทุนของห้องปฏิบัติการ (Laboratory cost) กล่าวคือ ในการบริหารจัดการห้องปฏิบัติการแต่ละแห่ง ผู้จัดการหรือหัวหน้าแผนกห้องปฏิบัติการ จำเป็นที่จะต้องควบคุม (Control) และบริหารการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการให้มีรายได้ (Revenue) และกำไร (Profit) เพื่อให้ห้องปฏิบัติการสามารถพึ่งตนเอง (Self-financed) และทำรายได้ให้โรงพยาบาล ดังนั้นในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เข้ามาใช้งานภายในห้องปฏิบัติการ จึงมักจะนำเรื่องของราคาต้นทุนของการทดสอบเข้ามาพิจารณา (Consider) อยู่เสมอ โดยการคำนวณคิดต้นทุนค่าใช้จ่ายนี้ มักจะใช้ต้นทุนของสินค้า, บริการ, รวมกับค่าอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง [ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) ของอุปกรณ์ หรือวัสดุสิ้นเปลือง (Disposable supplies) และรวมแรงงานคน (Labor) ที่จำเป็นจะต้องใช้ในการทดสอบแต่ละชนิดด้วย
    • ปัจจัยทางด้านต้นทุนของเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ และน้ำยา (Reagent) ของทางบริษัทเอง เนื่องจากลักษณะการดำเนินธุรกิจเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ มี 2 รูปแบบการดำเนินการ กล่าวคือ
      • การขายเครื่องมืออัตโนมัติ ซึ่งสามารถคิดราคาสินค้าได้จากต้นทุนของสินค้าและค่าดำเนินการรวมกับกำไร ที่บริษัทต้องการก็อาจเพียงพอแล้ว แต่หากเป็นการดำเนินการในรูปแบบที่ 2
      • การดำเนินการในลักษณะสัญญา (Contract) วางเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ให้กับทางห้องปฏิบัติการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายนั้น จำเป็นที่จะต้องนำเอาปริมาณ (Quantity) หรือยอดในการสั่งซื้อ (Purchase) ของลูกค้าในแต่ละที่ มาเป็นฐานในการคำนวณจุดคุ้มทุนร่วม (Break-even) ด้วย ราคาจึงอาจแตกต่างกันในแต่ละที่

แหล่งข้อมูล

    1. https://archive.cm.mahidol.ac.th/handle/123456789/769 [2024, October 10].
    2. https://en.wikipedia.org/wiki/Marketing_plan [2024, October 10].