6. ตลาดห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ – ตอนที่ 33

ความต้องการ, ปัญหาและความพึงพอใจ, วิธีซื้อสินค้า, และความคาดหวังของลูกค้า

ในการสำรวจ (Survey) นี้ จะเลือกใช้กลุ่มเป้าหมาย (Target group) เดียวกับการสำรวจภาพรวม (Overall) ของตลาด โดยดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 ข้อมูลที่จะสำรวจ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ

  1. ความต้องการ (Demand) สินค้าในตลาด
  2. ปัญหาและความพึงพอใจ (Satisfaction) ของสินค้าการตรวจวิเคราะห์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
  3. วิธีการที่ใช้ในการซื้อ (Procurement method) สินค้าของกลุ่มเป้าหมาย และ
  4. ความคาดหวัง (Expectation) ของกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อบริษัทผู้จัดจำหน่าย
  • ความต้องการของตลาดต่อสินค้าของบริษัทฯ – เนื่องจากงานตรวจวินิจฉัย (Diagnosis) ทางห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา (Micro-biology laboratory) มีการตรวจวิเคราะห์หลายชนิด (Type) แต่ผลิตภัณฑ์ของทางบริษัทชุดการตรวจวิเคราะห์มีเพียงบางชนิดเท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องทราบความต้องการ เพื่อกำหนดลูกค้าเป้าหมายหลักของสินค้า 

ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมาย และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อสินค้าชนิดดังกล่าว ว่ามีการซื้อสินค้าอยู่หรือไม่ มีการใช้สินค้าดังกล่าวปริมาณเท่าใด มีข้อคิดเห็นอย่างไรต่อรายการสินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่าย ได้แก่

    1. การทดสอบการติดเชื้อ Clostridium difficile infection (CDI)
    2. การทดสอบการติดเชื้อดื้อยา Methicillin resistance staphylococcus aureus (MRSA)
    3. การทดสอบการติดเชื้อ Group B streptococcus (GBS)
    4. การทดสอบการติดเชื้อในกลุ่ม Enteric bacterial infection และ
    5. การทดสอบการติดเชื้อดื้อยา Carbapenem resistance enterobacteriaceae (CRE) 
  • ปัญหาและความพึงพอใจในสินค้าการตรวจวิเคราะห์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน – การสำรวจแบ่งตามชนิดของการตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด 5 [ข้างต้น] ซึ่งแต่ละการตรวจวิเคราะห์จะมีวิธีที่แตกต่างกัน ดัง 3 ตัวอย่างต่อไปนี้

ในการตรวจวิเคราะห์ CDI [A] ด้วยวิธีการแบบเร่งด่วน (Rapid test: RT) ปัญหาก็คือสามารถเกิดความผิดพลาด (Error) ของผลการตรวจวิเคราะห์ได้ เนื่องจากมีค่าความน่าเชื่อถือ (Reliability) ต่ำกวาวิธีการอื่น ส่วนความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง (Medium) เนื่องจากใช้งานง่าย, สะดวก, และประหยัดเวลา (Time saving) แต่มีข้อผิดพลาดด้านผลการตรวจวิเคราะห์ได้ง่าย

ในการตรวจวิเคราะห์ GBS [C] ด้วยวิธีการแบบ RT - PCR (PCR = Polymerase chain reaction หรือปฏิกิริยาลูกโซ่ของโพลิเมอร์) เป็นเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ที่ยังมิใช่เครื่องมืออัตโนมัติสมบูรณ์ (Absolute automation) ยังต้องใช้แรงงานคน (Labor) ร่วมในการตรวจวิเคราะห์และมีต้นทุนต่อการทดสอบ (Cost per test) สูง ความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากมีความถูกต้องแม่นยำสูง (Precision) มากได้ผลการวิเคราะห์เร็วภายใน 24 ชั่วโมง แต่มีราคาแพงเมื่อเทียบกับการเพาะเลี้ยงเชื้อ

ส่วนในตรวจวิเคราะห์ CRE [E] ด้วยวิธีการแบบเพาะเลี้ยงเชื้อ (Culture) ปัญหาก็คือใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์ทั้งสิ้นอย่างน้อย 3 วัน ต้องใช้แรงงานคนที่มีประสบการณ์ (Experience) ทางด้านจุลชีววิทยาในการตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด ส่วนความพึงพอใจอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากไม่ยุ่งยากซับซ้อน (Uncomplicated) และ เป็นวิธีที่ใช้อยู่ในงานจุลชีววิทยา (Micro-biology) ทั่วไปอยู่แล้ว และมีต้นทุนในการตรวจวิเคราะห์ต่ำ

แหล่งข้อมูล

  1. https://archive.cm.mahidol.ac.th/handle/123456789/769 [2024, June 6].
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Marketing_plan [2024, June 6].