8. ตลาดศูนย์กายภาพฟื้นฟู – ตอนที่ 9

สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ (Sirindhorn National Medical Rehabilitation Institute) เป็นศูนย์วิชาการ สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สถาบันสิรินธรมีวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic objective) เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ โดยได้พัฒนาตนเองให้ก้าวสู่การ “เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศ (Excellence Center) ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่มีสมรรถนะสูง มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการ (Disable) และผู้ป่วย โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน”

การฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นวิธีการหนึ่งที่จะนำคนพิการกลับเข้าสังคม โดยคนพิการเหล่านั้น จะต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางด้านการแพทย์, การศึกษา, อาชีพ, และสังคม เพื่อให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือตนเอง (Self-dependent) ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็เป็นภาระ (Burden) แก่ครอบครัวและสังคมให้น้อยที่สุด โดยสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี (Dignity) เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

การก่อสร้างสถาบันดังกล่าว แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535 และแม้ว่าจะประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากร, ภารกิจทางวิชาการ, และการบริหารจัดการ แต่ก็ได้เริ่มต้นตั้งแต่นั้นมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ได้ย้ายมาอยู่ในอาคารปัจจุบัน

ส่วนด้านการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการได้เริ่มใน พ.ศ. 2537 โดยเริ่มเปิดเป็นบริการผู้ป่วยนอก (Outpatient) ก่อน ส่วนบริการผู้ป่วยใน (Inpatient) เปิดในปี พ.ศ. 2538 จำนวน 30 เตียง และเพิ่มเป็น 48 เตียงในปี พ.ศ. 2539 ทั้งนี้ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดยมีองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเป็นองค์ประธานเมื่อ พ.ศ. 2543

ลักษณะสำคัญขององค์กร (Organization profile) ได้แก่

สภาพแวดล้อมขององค์กร โดยบริการหลัก (Main service) ในขอบเขตดังนี้

  • บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยและผู้พิการโดยประกอบด้วยงานบริการด้านคลินิกหลัก ได้แก่ งานบริการผู้ป่วยนอก, งานบริการผู้ป่วยใน, งานกายภาพบำบัด, งานกิจกรรมบำบัด, งานกายอุปกรณ์, งานแก้ไขการพูด (Speech-language pathologist: SLP), งานฟื้นฟูสมรรถภาพเด็ก, งานฝึกทักษะคนพิการและบ้านวิถีชีวิตอิสระ (Independent), งานศูนย์สาธิตอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ และงานดูแลกลางวัน (Day care)
  • เป็นศูนย์กลาง (Focal point) ในการผลักดันกฎหมายคนพิการและสิทธิคนพิการ เช่น การผลักดันให้เกิดการดำเนินการตามมาตรา 20 (1) ตาม พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และ การติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (National Health Assembly) ในประเด็น ว่าด้วยการเข้าถึง (Access) บริการสุขภาพคนพิการอย่างเป็นธรรม
  • สนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการผ่านการเคลื่อนไหวโดยชุมชน ในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, โรงพยาบาลชุมชน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, และจัดหน่วยบริการคนพิการเคลื่อนที่ในภูมิภาค

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.snmri.go.th/history/ [2023, June 22].
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Speech%E2%80%93language_pathology [2023, June 22].
  3. http://web1.dep.go.th/?q=th/node/446 [2023, June 22].