3. ตลาดยา – ตอนที่ 7
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 22 พฤษภาคม 2566
- Tweet
สำหรับปัจจัยท้าทายของธุรกิจ ได้แก่
- การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากการเข้ามาในตลาด (Market entry) ของผู้ประกอบการรายใหม่
- ราคาวัตถุดิบ (Raw material) ยา ที่นำเข้ามีแนวโน้มสูงขึ้น
- การควบคุมราคา (Price control) ยาของภาครัฐในโรงพยาบาลเอกชน ทำให้การปรับขึ้นราคายาทำได้จำกัด และ
- ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงโรงงานให้ได้มาตรฐาน (Good Manufacturing Practice: GMP) ปัจจัยนี้ส่งผลที่กดดันกำไรของธุรกิจ
โครงสร้างอุตสาหกรรม (Industry structure) ยาแผนปัจจุบัน แบ่งตามขั้นตอนการผลิต ได้ดังนี้
- ขั้นต้น (Initial) คือ การวิจัยค้นคว้าพัฒนายาตัวใหม่
- ขั้นกลาง (Intermediate) คือ การผลิตวัตถุดิบตัวยา เพื่อใช้ในการผลิตยาสำเร็จรูป เช่น สารออกฤทธิ์ (Active pharmaceutical ingredient: API) และสารปรุงแต่งยา (Inactive pharmaceutical ingredients หรือ Excipients) ที่เร่งให้เกิดปฏิกิริยา การผลิตในขั้นนี้เป็นการผลิตตัวยาที่ค้นพบแล้ว แล้วพัฒนาเฉพาะเทคนิคการผลิต หรือเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลต้นแบบเพื่อให้ได้ตัวยานั้น จึงเป็นขั้นตอนการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเงินทุนจำนวนมาก
- ขั้นปลาย (Final) คือ การผลิตยาสำเร็จรูปที่พัฒนาและคิดค้นสูตรตำรับ (Formulary) ขึ้นเอง โดยอาจนำเข้าตัวยาวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผสม โดยที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบยาสูงถึง 90% ของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาสำเร็จรูปทั้งหมด ยาที่ผลิตได้จะเป็นยาชื่อสามัญ (Generic drug) ในรูปแบบ เช่น ยาเม็ด, ยาน้ำ, ยาแคปซูล (Capsule), ยาครีม, ยาผง, และยาฉีด โดยกลุ่มยาที่มีมูลค่าการผลิตสูงสุด ได้แก่ ยาแก้ปวด/แก้ไข้ (Analgesic) ผู้ประกอบการส่วนมากอยู่ในขั้นตอนนี้
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) ระบุว่า ไทยมีโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GMP จำนวน 151 แห่ง แต่มีเพียง 8% เท่านั้น ที่สามารถผลิตวัตถุดิบตัวยาสำคัญ (API) ได้เอง
วัตถุดิบดังกล่าว ได้แก่ อลูมินั่มไฮดรอกไซด์ (Aluminum hydroxide), แอสไพริน (Aspirin), โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate), และดีเฟอริโพรน (Deferiprone) ซึ่งส่วนใหญ่นำมาใช้ในการผลิตยาสำเร็จรูปของโรงงานตนเองเป็นหลัก ส่วนการวิจัยและพัฒนายาตัวใหม่ มีเฉพาะการคิดค้นวัคซีน เช่น วัคซีน HIV, วัคซีนโรคไข้หวัดนก/ไข้หวัดใหญ่, และล่าสุดวัคซีน COVID-19
ประเทศไทยมีนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ (National Vaccine Strategic Plan) มาตั้งแต่ปี 2548 และล่าสุดอยู่ระหว่างร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคง (Security) ด้านวัคซีนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2566 - พ.ศ. 2570 (ต่อจากฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2565) ซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม, เหมาะสม, และเพียงพอ ทั้งในภาวะปรกติและภาวะฉุกเฉิน รวมถึงความสามารถผลิตวัคซีนที่จำเป็นเพื่อทดแทน (Substitute) การนำเข้า (Import)
แหล่งข้อมูล –