3. ตลาดยา – ตอนที่ 31

อีก 65% เป็นยาที่นำเข้า (Import) มาในประเทศไทย นั่นคือรายได้ (Revenue) ที่หลุดหายไประหว่างทางไปนอกประเทศ ทั้งๆ ที่การประเมินความพร้อม (Readiness) ของผู้ผลิตยาสัญชาติไทยว่ามีอยู่สูง และยาไทยได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค (Regional acceptance)

กล่าวคือ ไทยเรามีความสามารถในการผลิตที่แข่งขันได้ (Competitive) กับต่างชาติ ทั้งเรื่องคุณภาพ (Quality) ของยา และมาตรฐานโรงงานผลิต (Manufacturing standard)

การนำเข้ายาส่วนมากของไทย เป็นตัวยาที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ (Domestic production) และมีราคาแพง เช่น ยาสร้างเม็ดเลือด (Blood-forming), ยาปฏิชีวนะ (Anti-biotics), และยาลดไขมันในเลือด (Hypo-lipidemic agent) โดยแหล่งนำเข้าหลักมาจากเยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, และอินเดีย

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งผู้ผลิตยาไทย ประสบอุปสรรค (Obstacle) ไม่สามารถขึ้นทะเบียน (Register) ยาใหม่ได้ เนื่องจากติดข้อจำกัด (Limitation) ยาที่มีสิทธิบัตร (Patent) เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง (Anti-hypertensive), ยาโรคเบาหวาน (Diabetes), และยาปฏิชีวนะ ฯลฯ

ตัวอย่าง ยารักษามะเร็ง (Cancer) ซึ่งแต่ละปีมีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพราะยาเม็ด (Tablet) มีราคาขายต่อเม็ดเป็นหลักพันบาท ในขณะที่กลุ่มยาฉีด (Injection) ราคาหลักหมื่นบาท แต่ยาไทย มีส่วนแบ่งในตลาดนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยมีเจ้าใหญ่ในตลาด (Market leader) คือ สหรัฐอเมริกา

โจทย์ใหญ่ ต้นทุนผลิตสูง-ไทยไร้ความมั่นคงทางยา

หน่วยงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้สรุปประเด็นท้าทายของธุรกิจยาที่ต้องเผชิญ คือ ต่อให้เห็นโอกาสอยู่ตรงหน้า แต่ไทยยังขาดศักยภาพ (Potential) ในการผลิตยาที่จำเป็นเพื่อความมั่นคง (Security) ทางยา หากวัตถุดิบ (Raw material) และเทคโนโลยี (Technology) ยังต้องนำเข้ามาเกือบทั้งหมด 

การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น (Highly competitive) จากนักลงทุนรายใหม่จากต่างชาติ (Foreign investor) ซึ่งใช้ไทยเป็นฐานการผลิต (Production base) อย่างในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ขณะที่ภาระต้นทุน (Cost) ของผู้ผลิตยาในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น

อันเนื่องมาจากเงื่อนไข (Condition) ที่ต้องปรับปรุงโรงงานผลิตยาให้ได้ตามมาตรฐาน GMP-PIC/S (= Good Manu-facturing Practices-Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme) รวมถึงแนวโน้มทางกฎหมาย ที่จะกำหนดให้ยาจดสิทธิบัตร มีระยะเวลาผูกขาด (Monopoly) นานเกิน 20 ปี ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอน (Uncertainty) ต่อราคายา

การเปิดประเทศ (Open up) รับนักท่องเที่ยว ที่ทำให้ความต้องการบริโภคยา (Drug consumption) เพิ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2566 ถึง 2568 จนอาจดันให้มูลค่าตลาด (Market value) ยาจะเติบโตต่อเนื่อง พร้อมๆ กับ นโยบาย Medical Hub ที่ชูให้ไทยมีความมั่นคงด้านสาธารณสุข (Public-health security) ทั้งระบบ

ไทยจึงมีโจทย์สำคัญ ที่ต้องเร่งผลักดัน (Drive) ความมั่นคงทางการยา พึ่งพายานอกเท่าที่จำเป็น และเพิ่มขีดความสามารถ (Capability) ด้านการผลิตยาไทย ให้สามารถป้อนเข้า (Feed) มาในระบบ และส่งออกได้มากขึ้น สร้างเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย (Thai economy) อีกทางหนึ่ง 

แต่ที่น่าจับตามอง (Eye-keeping) มากสุด ก็คือการขยายขอบข่ายลงทุนของกลุ่มทุนจากธุรกิจอื่น เช่น กลุ่มปิโตรเคมี (Petro-chemical) /เคมีภัณฑ์ และกลุ่มพลังงาน (Energy) ที่ตบเท้าเข้ามาในอุตสาหกรรมยาอย่างต่อเนื่อง 

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.thairath.co.th/money/economics/analysis/2705883 [2024 May 6].
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Pharmaceutical_Inspection_Convention_and_Pharmaceutical_Inspection_Co-operation_Scheme [2024, May 6].