2. ตลาดผู้สูงอายุ – ตอนที่ 8

ตลาดผู้สูงอายุ

ลูกหลานสามารถดูแลผู้สูงอายุผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบแจ้งเตือนการหกล้ม (Fall alert) หรือการติดกล้องวงจรปิด (Closed-circuit television: CCTV) เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ส่งสัญญาณจากที่บ้านไปยังมือถืออัจฉริยะ (Smart phone) ได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึงมีนวัตกรรมหุ่นยนต์ (Robot) ที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ และอุปกรณ์บ้านอัจฉริยะ (Smart home) เพื่อช่วยเพิ่มความสบายภายในบ้าน เช่น การออกแบบห้องน้ำที่เหมาะกับผู้สูงวัย

การใช้เทคโนโลยีประตูห้องน้ำสำหรับผู้ใช้รถเข็น (Wheel chair) ที่มือจับประตูสามารถยับยั้งแบคทีเรียได้, อุปกรณ์ช่วยพยุง (Support) หลากหลายรูปแบบ, เครื่องเรือน (Furniture) ที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัย, สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจากธนาคารอาคารสงเคราะห์, และกิจกรรมจากสโมสร OPPY (= Old People Playing Young) Club ซึ่งมีหลักสูตร (Course) สอนการใช้เทคโนโลยีแก่ผู้สูงอายุ เช่น การใช้สื่อสังคม (Social media) อันได้แก่ YouTube, Facebook, และ Instagram

สินค้าเพื่อผู้สูงอายุมีหลากหลายขึ้น (Variety) เช่น อาหารนุ่มสูตรพิเศษ, เตียงสำหรับผู้ป่วยหรือมีปัญหาแผลกดทับ, และไข่ขาวต้มพร้อมกินแบบแท่ง ล้วนเป็นผลงานของคนไทยทั้งในส่วนของภาครัฐ และเอกชน โดยนานาผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ต่างช่วยยกระดับคุณภาพ (Quality) รองรับสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานว่า จากการศึกษาวิจัยตลาด พบว่ามีเพียง 5% ของผู้สูงอายุเท่านั้นที่มีกำลังในการซื้อ (Purchasing power) หรือเข้าถึง(Access) ระบบบริการเทคโนโลยีชั้นสูงในการเพิ่มคุณภาพชีวิต ส่วนอีก 90+ % ยังต้องการความช่วยเหลือในหลายด้าน เนื่องด้วยผู้สูงอายุในไทยไม่มีเงินออม และรัฐไม่ได้มีกำลังเพียงพอในการสนับสนุน

ดังนั้น การดูแลสุขภาพ, การเสริมสร้างทักษะ, การพยายามสร้างธนาคารเวลา, และจิตอาสาสร้างเครือข่ายก่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ล้วนมีความสำคัญยิ่งยวด นอกจากการสร้างนวัตกรรมเพื่อสุขภาพแล้ว การอบรมเสริมอาชีพก็มีความจำเป็นต่อการอยู่ของผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ

ส่วนที่อยู่อาศัยก็มีความสำคัญไม่ต่างกัน เพราะผู้สูงอายุของไทย อยากอยู่บ้าน, อยู่ถิ่นฐานในชุมชน, และอยู่กับครอบครัว มากกว่าไปอยู่ในสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ตามผลลัพธ์จากการวิจัย

เทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยในการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อหรือฐานะดี อาจปรับปรุงที่อยู่อาศัยเป็นบ้านอัจฉริยะ, มีระบบในการดูแลผู้สูงอายุครบวงจร (One-stop service, หรือมีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ออกแบบเพื่อคนทุกช่วงวัย (Universal design)

แต่ถ้าในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีรายได้หรือมีรายได้ไม่มากนัก ควรจะต้องมีระบบการดูแลในระบบทางไกล (Remote care) มากขึ้น การมีทรัพยากรบุคคล อย่าง อสม. (= อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ให้เข้ามาช่วยเติมเต็มระบบสาธารณสุข, การมีเวทีพื้นฐาน (Platform) ที่เหมาะสมมารองรับ, และการเพิ่มรายได้ในบ้านของผู้สูงอายุเองโดยการประกอบอาชีพในบ้าน เช่น เปิดร้านขายของชำ หรือ ชุมชนที่เปิดรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

  1. Aging-Market_SME-Treasure_2018.pdf [2023, June 2].
  2. https://www.bangkokbiznews.com/social/903290 [2023, June 2].