2. ตลาดผู้สูงอายุ – ตอนที่ 7

ตลาดผู้สูงอายุ

ปัจจุบันผู้สูงอายุเริ่มมีสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมด เป็นคนที่ยังมีกำลังซื้อและเริ่มวางแผนใช้ชีวิตหลังเกษียณ (Post-retirement) โดยไม่รบกวนลูกหลาน เช่น มีการซื้อกองทุน, บริหารด้านการเงิน, วางแผนใช้ชีวิตในการท่องเที่ยว, และมีคุณภาพชีวิต (Quality of life) ที่ดีขึ้นในอนาคต

ภาคเอกชนเริ่มเข้ามาเข้าสู่ตลาดสูงอายุจำนวนมากขึ้น เพราะคาดว่า มูลค่าตลาดผู้สูงอายุจะขยายโตขึ้น มากกว่า 5 ถึง 10% ซึ่งเป็นอัตราเติบโตในปีที่ผ่านๆ มา โดยที่โครงการอสังหาริมทรัพย์ (Real estate) จะมีมากขึ้น และหุ่นยนต์ (Robot) เริ่มมีบทบาทมากขึ้น เพราะผู้สูงอายุชอบมาก เนื่องจากเป็นเพื่อนและผู้ช่วยได้

นอกจากเครื่องสุขภัณฑ์แล้ว การออกแบบแต่งบ้านพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการทำห้องนอน และห้องอาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ล้วนเพื่ออำนวยความสะดวก ทำให้มูลค่าการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการพัฒนาที่อยู่อาศัย (Residence) และสินค้าและบริการต่างๆ ที่ทำให้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ภาครัฐมีตัวเลขสถิติว่าปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทย ได้กลายเป็นสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์แล้วสิ่ง ที่จะต้องวางแผนในด้านเศรษฐกิจและสังคมก็คือ การตอบโจทย์ว่า จะดูแลกลุ่มผู้สูงอายุอย่างไรให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หลังจากปี พ.ศ. 2564 คาดว่า การเติบโตของตลาดผู้สูงอายุจะมากขึ้นระหว่าง 10 ถึง 15% ต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่มูลค่าสูง และมีเอกชนเข้ามาร่วมออกแบบและ “ลงเล่น” ธุรกิจนี้มากขึ้น นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว จะมีการขยายไปยังต่างจังหวัดอีกด้วย เช่น บ้านสำรอง (Resort) สำหรับผู้สูงอายุ ที่ต้องการจะไปพักผ่อน ส่งผลให้สินค้าและบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะเติบโตตามไปด้วย

การก้าวสู่สังคมสูงอายุถือเป็นโอกาสทองของธุรกิจต่างๆ ที่เข้ามาจับตลาดผู้สูงอายุ ผู้ประกอบการเริ่มลงมาแข่งขันในตลาดนี้อย่างล้นหลาม จะสังเกตเห็นว่า สินค้าปรกติโดยทั่วไป มักจะมีประเภทหนึ่งที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น ในเรื่องเตียง มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อผู้ป่วยติดเตียงและลดแผลกดทับ ส่วนอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ ก็มีการแยกอย่างชัดเจนประเภทอาหารเสริมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ, อุปกรณ์, และข้าวของเครื่องใช้

เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มียังมีกำลังซื้อสูง ทางภาครัฐเริ่มประชาสัมพันธ์ (Publicity) อยากให้คนไทยที่เข้าสู่สูงอายุ มีการวางแผนชีวิตและวางแผนการเงิน ตั้งแต่อายุ 55 ปีเป็นต้นไป และหลังจากที่เกษียณแล้ว จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น สินค้าและบริการเกี่ยวกับผู้สุงอายุ จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเศรษฐกิจ (Economy) ประเทศไทยดีขึ้นในอนาคต

ปัจจุบันมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ 10.7 แสนล้านบาท ยังเป็นตลาดที่มีการแข่งขันน้อย (Blue ocean) อยู่ แต่เมื่อภาครัฐให้ความสำคัญ และธุรกิจต่างๆ เริ่มออกแบบส่วนของตลาด (Market segmentation) ของผู้สูงอายุมากขึ้น จะกลายเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง (Red ocean) และมีสินค้ามากมายหลากหลายขึ้น และคาดว่า มูลค่าตลาดส่งออกอย่างน้อยจะสูงขึ้นอีก 2 แสนล้านบาท หากเชื่อมโยงตลาดไปถึงกลุ่ม CLMV (=Cambodia, Laos, Myanmar, and Vietnam) ซึ่งสั่งสินค้าและบริการผู้สูงอายุจากประเทศไทย

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=social [2023, May 20].
  2. Aging-Market_SME-Treasure_2018.pdf [2023, May 20].
  3. https://www.bangkokbiznews.com/social/903290 [2023, May 20].