2. ตลาดผู้สูงอายุ – ตอนที่ 6

ตลาดผู้สูงอายุ

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (National Economic and Social Development Council) ประมาณการประชากร (Population) ไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2563 เป็น 67.2 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2571 แต่หลังจากนั้น จะลดลงในอัตรา -0.2% ต่อปี ซึ่งในปี พ.ศ. 2583 คาดว่า จะมีประชากรทั้งหมดราว 65.4 ล้านคน

ทั้งนี้ ในจำนวนประชากรดังกล่าว พบว่า ประชากรผู้สูงอายุ (Elderly) (60 ปีขึ้นไป) ในปี พ.ศ. 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน (18% ของประชากรทั้งหมด) เพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน (31.28% ของประชากรทั้งหมด) ในปี พ.ศ. 2583 โดยในปี พ.ศ. 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็ก (Children) เท่ากับประชากรผู้สูงอายุ ณ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนประชากรวัยเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุมาโดยตลอด

อัตราส่วน (Ratio) ของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน จะลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สุงอายุ 1 คน ในปี พ.ศ. 2583 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิง ของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 คน ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี พ.ศ. 2563 เป็น 56.2 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี พ.ศ. 2583

ศูนย์วิจัย ธนาคารกสิกรไทย รายงานประเด็นสำคัญว่า ภายในปี พ.ศ. 2567 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Completely-aged) หรือมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 14.0% ของประชากรทั้งหมด สัญญาณ (Sign) ดังกล่าวคาดว่ากลุ่มผู้สูงอายุจะกลายมาเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจ, สินค้า, และบริการต่างๆ มากขึ้น

แม้ว่าสัดส่วนผู้สูงอายุจะมีแนวโน้ม (Trend) เพิ่มขึ้น แต่ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อ (Purchasing power) หรือรายได้ที่ไม่สูงนัก อีกทั้งการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการส่วนหนึ่งมาจากบุตรหลาน ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ที่สนใจจะเจาะตลาด กลุ่มผู้สูงอายุ อาจจะต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย

การคำนึงถึงคุณภาพ (Quality) และความปลอดภัย (Safety) ของสินค้าและบริการที่มาพร้อมกับการใช้งานที่ง่าย, ไม่ยุ่งยากซับซ้อน, และสามารถตอบโจทย์พฤติกรรม (Behavior) ของผู้สูงอายุ รวมถึงมีราคา (Pricing) ที่เหมาะสม ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญในการปรับกลยุทธ์ (Strategy) เพื่อเจาะตลาดผู้สูงอายุ

ด้วยสถานการณ์ของไทยที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงถือได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุเป็นตลาดที่มีศักยภาพ (Potential) สูง และมีความต้องการครอบคลุมอยู่ในหลายธุรกิจ ขณะนี้มีผู้ประกอบการจำนวนมากให้ความสำคัญกับตลาดผู้สูงอายุมากขึ้น ส่งผลให้ที่ผ่านมามูลค่าตลาด (Market value) ในกลุ่มผู้สูงอายุสูงถึง 107,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น 2 ส่วน กล่าวคือสินค้า (Product) มูลค่าเกือบ 7 หมื่นล้านบาท และที่เหลือเป็นมูลค่าตลาดด้านบริการ (Service)

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น อาทิ โครงการอสังหาริมทรัพย์ (Real estate) เช่น กรมธนารักษ์ หรือ กรุงเทพมหานคร ที่สร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมูลค่ามหาศาล และในอนาคตจะมีที่พักอาศัยที่เป็นรูปแบบให้ผู้สูงอายุอยู่ โดยมีพยาบาลและแพทย์ ดูแล 24 ชั่วโมง พร้อมอำนวยความสะดวก (Convenience) เรียกว่าเป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม (Popular)

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=social [2023, May 6].
  2. Aging-Market_SME-Treasure_2018.pdf [2023, May 6].
  3. https://www.bangkokbiznews.com/social/903290 [2023, May 6].