2. ตลาดผู้สูงอายุ – ตอนที่ 41
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 23 กันยายน 2567
- Tweet
เคล็ดลับเชิงยุทธศาสตร์ในการชนะในตลาด “มหาสมุทรสีเงิน” (Silver ocean) ตามอักษรตัวแรกของคำว่า “SILVER” ดังนี้
S (= Self-transcendence) คือ การพัฒนาตนเองให้สูงขึ้น [อยู่เหนือตนเอง] โดยที่ยี่ห้อ (Brand) ของสินค้าและบริการช่วยให้ผู้สูงวัยได้ใช้ชีวิตที่ก่อประโยชน์กับคนอื่นหรือสังคม (Social contribution) ซึ่งเป็นความต้องการของมนุษย์ขั้นสูงสุดของทุกคน
I (= Independence) คือ ความเป็นอิสระและการเคารพตนเอง (Self-esteem) ทำให้พวกเขารู้สึกว่า ตัวเองไม่เป็นภาระ (Burden) ผู้อื่นหรือสังคม
L (= Leisure) คือการชื่นชมประสบการณ์ หรือการผ่านร้อนผ่านหนาวของผู้สูงวัย อธิบายให้เห็นว่าสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ได้ ทำให้เขาได้ชื่นชมคุณค่าตนเอง รวมทั้งเชื่อมโยงพวกเขากับชุมชน (Community) โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยทำงาน ต้องการมีสังคมหลังจากเกษียณ เพื่อมิให้รู้สึกโดดเดี่ยว
V (= Values) คือ การเข้าหาและพูดคุยกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่เหตุผลของอารมณ์ (Emotional) ว่า “ทำไม” มากว่า “อะไร” เช่น ความมั่นใจในสุขภาวะสมบูรณ์ (Wellness) จนเป็นที่ยอมรับของลูกหลาน
E (= Empowerment) คือการเปิดโอกาสให้ลูกค้าสูงวัยได้แสดงความคิดเห็น ให้ข้อแนะนำปรับปรุงสินค้าและบริการ ถือว่าเป็นช่องทางการเข้าถึงจิตใจลูกค้า (Customer empathy) และสร้างแรงสนับสนุนในยี่ห้อ (Brand advocacy) อย่างดี
R (= Relationship) คือ ความสัมพันธ์ที่สัมผัสความเป็นมนุษย์ อันเป็นการทำตลาดส่วนบุคคล (Personalized marketing) ซึ่งจะมีบทบาทมากขึ้นกับคนกลุ่มนี้ ที่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับคน มากกว่าระบบอัตโนมัติ หรือหุ่นยนต์ (Robot)
สังคมผู้สูงวัย (Aging society) หมายถึง สังคมที่มีสัดส่วน (Proportion) ของผู้สูงอายุหรือประชากร (Population) ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป มากกว่า 10% ของประชากรโดยรวมทั้งประเทศ หรือมีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่สัดส่วนอัตราการเกิด (Birth rate) และจำนวนประชากรในวัยทำงาน (Work-force) ลดน้อยลง
โดยประเทศในเอเชียที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเรียบร้อยแล้ว ได้แก่
1. ญี่ปุ่น มีประชากรสูงวัย 35,733,999 คน คิดเป็นสัดส่วน 28% ของประชากรทั้งประเทศ
2. เกาหลีใต้มีประชากรสูงวัย 8,176,623 คน คิดเป็นสัดส่วน 16% ของประชากรทั้งประเทศ
3. สิงคโปร์มีประชากรสูงวัย 759,143 คน คิดเป็นสัดส่วน 13% ของประชากรทั้งประเทศ
สำหรับประเทศไทย มีประชากรสูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 8,314,654 คน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 12.57% จากประชากรทั้งหมด 66.17 ล้านคน ตามมาด้วยช่วงอายุ 55 ปี ถึง 64 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเกษียณ (Retiring) มีจำนวน 8,678,466 คน ซึ่งมีการคาดการณ์ (Forecast) ไว้ว่า สัดส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปถึง 20% ถึง 30% เปอร์เซ็นต์ในอนาคต
กล่าวสรุปก็คือ ประชากร ทุกๆ 100 คน ในประเทศไทย เราจะพบจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 30 คนเลยทีเดียว
แหล่งข้อมูล –
- https://www.marketingthai.or.th/silver-ocean-marketing/ [2024, September 22].
- https://www.tnpoem.com/content/6034/aging-society [2024, September 22].