10. ตลาดประกันสุขภาพ - ตอนที่ 1

ตลาดประกันสุขภาพ

ในช่วง 3 ปี ระหว่างการแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ของไวรัสโควิด – 19 ตลาดธุรกิจประกันสุขภาพต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน บรรดาผู้เล่น (Players) ต่างต้องแข่งกันสูง ควบคู่ไปกับการพัฒนาช่องทางการขายในรูปแบบดิจิทัล, การบริการผ่านระบบออนไลน์, การพัฒนาคุณภาพการบริการหลังการขาย, และการพัฒนาบุคลากร

ในสถานการณ์ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ได้ลดลงมาอยู่ในระดับท้องถิ่น (Epidemic) แล้ว บริษัทประกันสุขภาพ ก็ได้เร่งรีบพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เติมเต็มความต้องการยิ่งขึ้น โดยเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ (Purchasing Power) สูง

ในอนาคตอันใกล้ เราคงจะได้เห็นความมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย ที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลทั้งแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ด้วยวงเงินผลประโยชน์สูงนับ 60 ถึง 80 ล้านบาทต่อรอบปีกรมธรรม์สำหรับชาวไทย และ 100 ถึง 120 ล้านต่อรอบปีกรมธรรม์สำหรับชาวต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย

แผนประกันสุขภาพของบริษัทเอกชน ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันมากขึ้น โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยนอกต่อครั้ง หลังออกจากการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (OPD Follow-up) สำหรับการรักษาพยาบาลต่อเนื่องภายใน 30 วัน นอกจากนี้ยังมีการคุ้มครองโรคเฉพาะบางสาขา

ตัวอย่างเช่น โรคมะเร็ง (Cancer) ซึ่งเป็น “เนื้อร้าย” เกิดจากการแบ่งตัวเซลล์ผิดปกติ ทำให้เกิดผลกระทบกับอวัยวะนั้นๆ หรืออวัยวะบริเวณใกล้เคียง ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการบ่งบอกหรือไม่มีอาการใดๆ เลยก็ได้ บางกรณีไม่แสดงอาการจนกว่าจะถึงระยะลุกลามแล้ว และบางกรณี ผู้ป่วยโรคมะเร็งอาจไม่ใช่ผู้สูงอายุ แต่กลับเป็นคนที่มีอายุน้อยๆ และสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี 

โรคมะเร็งที่เป็นภัยร้ายด้านสุขภาพและยังเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก โดยในประเทศไทย โรคมะเร็งจัดเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของคนไทยมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ดังนั้น บริษัทประกันสุขภาพบางแห่ง จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์แนวใหม่ ฉีกแนวรูปแบบเดิมๆ ในท้องตลาด

ตัวอย่างโปรแกรมตรวจคัดกรองมะเร็งให้ทุกปีเมื่อต่ออายุกรมธรรม์ เพื่อให้ตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ให้ผู้เอาประกันได้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ โดยทำการตลาดเชิงรุก ผ่านช่องทางออนไลน์ในรูปแบบโฆษณาตอบโต้ (Interactive advertising) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกทางออกได้

การรักษาโรคมะเร็งสมัยนี้ก้าวไกลไปมาก ส่วนจะรักษาด้วยวิธีไหนนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้แนะนำทางเลือกในการรักษาให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด, รังสีรักษา (Radiotherapy), เคมีบำบัด (Chemotherapy), รวมไปถึงการใช้ยารักษามะเร็งอย่างตรงจุด (Targeted-cancer therapy) ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับการรักษามากกว่าหนึ่งวิธีเพื่อผลการรักษาที่ดีกว่า เช่น ผ่าตัดก่อนแล้วให้ยาเคมีบำบัดต่อ เพื่อการรักษาเสริม หรือให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดหรือฉายรังสี เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.thaipost.net/economy-news/37326/ [2023, March 31].
  2. https://www.roojai.com/article/health-insurance-tips/life-insurance-limit-cancer/ [2023, March 31].