9. ตลาดการแพทย์ทางไกล – ตอนที่ 30

สำหรับแนวทางพัฒนาการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคือ อุปกรณ์ด้านดิจิทัล (Digital Devices) ทั้งหลาย เพื่อให้สามารถเก็บ (Collect) ข้อมูลสุขภาพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ (Heart beat) ได้ในเวลาจริง และการเชื่อมโยง (Link) กับประวัติข้อมูลในระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital information system: HIS) ก่อนที่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์

รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านโทรคมนาคม (Tele-communication) และการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีความเสถียร (Stability) และมีประสิทธิภาพ (Efficiency) รองรับการเชื่อมต่อเครื่องมือทางการแพทย์-อุปกรณ์ดิจิทัล และการส่งผ่านข้อมูลอย่างไร้รอยตะเข็บ (Seamless)

นอกจากนั้น การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการข้อมูลสุขภาพต่างๆ รวมทั้งรูปแบบพื้นฐาน (Platform) ที่ใช้งานง่าย, สะดวก, และรวดเร็ว แต่มีประสิทธิภาพสูง ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous development)

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Teledoc ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มให้ผู้ป่วยสามารถพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์และรับใบสั่งยา (Prescription) จากแพทย์ เพื่อนำไปซื้อยาต่อ พบว่า ในช่วงกรกฎาคม พ.ศ. 2563 มีผู้มาใช้บริการอยู่ที่ 2.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 203% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องให้สมบูรณ์ (Complete) ทั้งในด้านการเชื่อมโยงและการดึง (Retrieve) ข้อมูลที่จำเป็นออกมาใช้, ระบบการชำระเงิน, และการเชื่อมต่อไปสู่การซื้อและรับ/ส่งยา (Drug delivery) ด้วย

จะเห็นได้ว่า ธุรกิจการแพทย์ทางไกลในอนาคต มีแนวโน้ม (Trend) ที่จะได้รับความนิยม (Popular) อย่างต่อเนื่อง สามารถขยาย (Expand) ตลาดได้อีกมาก เนื่องจากตอบโจทย์ (Respond) สถานการณ์การแพร่ระบาด (Epidemic or pandemic) ของโรคต่างๆ ได้ดี

อีกทั้งยังสอดรับกับวิถีใช้ชีวิต (Lifestyle) ของผู้คนในยุคดิจิทัลที่ต้องการลดระยะเวลาการเดินทาง (Travel time) การรอคิว (Queue) ต่างๆ ในสถานพยาบาล ดังนั้น การพัฒนาธุรกิจการแพทย์ทางไกล จึงนับเป็นตลาดที่ยังเติบโตได้อีกมาก และสามารถต่อยอดการให้บริการผู้ป่วยชาวต่างชาติกลุ่มที่มีข้อจำกัด (Limitation) การเดินทาง หรือไม่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศด้วย

โดยอาจเริ่มต้นจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases: NCD) เรื้อรัง (Chronic) กับกลุ่มลูกค้าต่างชาติหลัก เช่น จีน และในกลุ่ม ประเทศ CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, and Vietnam) เนื่องจากแพทย์สามารถติดตาม (Monitor) อาการผู้ป่วยผ่านข้อมูลที่ส่งมาจากอุปกรณ์ติดตามตัวได้

และหากมีความจำเป็นต้องพบแพทย์ (Consultation) หรือทำหัตถการ (Procedure) ในสถานพยาบาลอย่างเร่งด่วน ผู้ป่วยก็สามารถเดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยโดยใช้เวลาไม่นาน ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายตลาดธุรกิจบริการสุขภาพในไทยอีกทางหนึ่งด้วย

สรุปแล้ว การแพทย์ทางไกล เป็นการให้บริการด้านสาธารณสุข (Public health) ด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ แก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล (Remote) โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Tele-communication) ทั้งที่เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประโยชน์ด้านงานวิจัย, ด้านการรักษา, และการป้องกันโรค ซึ่งตลาดการให้บริการการแพทย์ทางไกล ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.dtn.go.th/th/file/get/file/1.20220401257312f3ccc00194a97ffbf4cf580e5c104518.pdf [2024, April 12].
  2. https://www.marketdataforecast.com/ [2024, April 12].