9. ตลาดการแพทย์ทางไกล – ตอนที่ 19

โรงพยาบารัฐที่นำร่อง (Pilot) 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และ โรงพยาบาลแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทั้ง 2 แห่งนี้ เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย และสถานีอนามัยที่ตนเองรับผิดชอบเป็นลูกข่าย (ปัจจุบันสถานีอนามัยเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล)

โรงพยาบาลอ่าวลึกอาศัยสัญญาณโทรศัพท์และระบบอินเทอร์เน็ตของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) [Communications Authority of Thailand: CAT] ในการส่งข้อมูลผู้ป่วย ส่วนโรงพยาบาลแม่สะเรียงใช้ระบบการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม (Satellite) ซึ่งทั้งสองแห่งใช้งานผ่านระบบประชุมทางไกล (Video conference) เหมือนกัน

สำหรับภาคเอกชน มีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งที่นำระบบการแพทย์ทางไก (Tele-medicine) มาใช้ ล่าสุดคือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพที่นำนวัตกรรม ROBO DOCTOR หรือคุณหมอหุ่นยนต์จากประเทศสหรัฐอเมริกา มาเสริมศักยภาพ (Potential) การรักษาพยาบาล ซึ่งเริ่มใช้กับโรงพยาบาล 4 แห่งของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ

อันได้แก่ ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ (ซอยศูนย์วิจัย), โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา, โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน, และโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โดยเริ่มนำร่องใช้สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมองและระบบประสาท (Brain and neurology) โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรคกลุ่มนี้เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาที่รวดเร็ว (Speedy) มากเท่าใด ยิ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัว (Recover) และกลับมามีคุณภาพชีวิต (Quality of life) ที่ดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางและทีมแพทย์จากโรงพยาบาลเครือข่าย รวมถึงผู้ป่วยและญาติ สามารถซักถามโต้ตอบกัน (Inter-active) แบบเห็นหน้า ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษาในเวลาจริง (Real-time)

ระบบการแพทย์ทางไกล เป็นอีกรูปแบบของระบบบริการทางการแพทย์ ที่จะมีบทบาทสำคัญ (Important role) ในการพัฒนาระบบการบริการทางการแพทย์ (Clinical service) และสาธารณสุข (Public health) ของประเทศ ทำให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกล (Distance) สามารถเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางได้ทันท่วงที (Immediately) โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาไกล

นอกจากนี้ โรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์เฉพกาะทาง (Specialist) ก็จะได้รับการช่วยเหลือ (Assistance) ทั้งด้านการตรวจรักษา การแลกเปลี่ยนข้อมูล (Data exchange) ทางการแพทย์ ตลอดจนการศึกษาต่อเนื่อง (Continuous education) ทางการแพทย์ เป็นการช่วยพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ (Medical staff)

นอกจากนี้ ยังช่วยให้ระบบบริการทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพ (Efficiency) มากขึ้น โดยครอบคลุมประชากร (Population) ในส่วนต่างๆ ของประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ประชากรของประเทศมีสุขภาพ (Health) ที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในที่สุด อันนำมาซึ่งความพึงพอใจ (Satisfaction) ของผู้ป่วยอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพทย์ทางไกลก็มีข้อจำกัด (Limitation) ไม่น้อย เช่น การไม่สามารถทำหัตการ (Procedure) ได้ หรือระบบการสื่อสารในพื้นที่ท้องถิ่น อาจเป็นอุปสรรค

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.bangkokhealth.com/articles/การแพทย์ทางไกล-telemedicine-ในศตวร/ [2023, November 10].
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Telehealth [2023, November 10].