9. ตลาดการแพทย์ทางไกล – ตอนที่ 18
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 28 ตุลาคม 2566
- Tweet
3. Interactive tele-medicine เป็นการนำเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้ (Inter-active) กันได้ทันทีในเวลาจริง (Real-time) เช่น การพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ หรือการสื่อสารผ่านระบบประชุมวีดิทัศน์ (Video conference) ที่สามารถเห็นหน้าคู่สนทนาทั้งสองฝ่ายได้ วิธีนี้ช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่โรงพยาบาลอื่น สามารถซักประวัติผู้ป่วย, สั่งตรวจร่างกาย (Examination), และประเมินสภาวะทางจิตใจ (Mental condition) ของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่ขอปรึกษา (Consult) ได้ โดยมีแพทย์ที่ขอปรึกษาจากโรงพยาบาลนั้น อยู่กับผู้ป่วยด้วย เพื่อช่วยในการตรวจร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
จากผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) พบว่า Tele-medicine ที่ได้รับความนิยม
สูงสุดมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่
- Tele-radiology เป็นการแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) ที่นิยมนำมาใช้มากที่สุด โดยการส่งต่อภาพถ่ายทางรังสีหรือภาพเอกซเรย์แบบดิจิตอล (Digital x-ray) จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อให้แปลผล (Interpret), วินิจฉัย (Diagnose) และ/หรือ ขอคำปรึกษา
- Tele-pathology เป็นการส่งภาพชิ้นเนื้อจากกล้องจุลทรรศน์ (Tele-scope) หรือส่งรายงานผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา เพื่อให้แปลผล, วินิจฉัย, และ/หรือ เพื่อขอปรึกษาความเห็นเพิ่มเติม
- Tele-dermatology เป็นการส่งข้อมูลทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโรคผิวหนัง (Skin) หรือความผิดปกติของผิวหนัง เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังได้ทำการแปลผล, วินิจฉัย, และ/หรือเพื่อขอปรึกษาเพิ่มเติม
- Tele-psychiatry เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการประเมินทางจิตเวช และ/หรือ การขอปรึกษาผ่านระบบวิดีทัศน์ (Video) และโทรศัพท์
ประโยชน์หลักของระบบ Tele-medicine ประกอบด้วย
- ช่วยให้ผู้ป่วยที่อยู่ในชนบทห่างไกล สามารถเข้าถึงการตรวจรักษาและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทันท่วงที อีกทั้งเป็นการขยายงานบริการทางการแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาล ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลได้มากขึ้น
- Tele-medicine เป็นระบบที่มีประสิทธิผลคุ้มค่าการลงทุน (Cost efficient) เนื่องจากช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยรวม และเพิ่มประสิทธิผล (Effective) ในการรักษาโรค เพราะใช้บุคลากรทางการแพทย์ร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาของแพทย์ในการเดินทางเพื่อมารักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยลดระยะเวลาการนอนพักรักษา (Length of stay) ในโรงพยาบาลได้
- ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการทางด้านการแพทย์จะได้รับความสะดวก (Convenience) สบายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลมาที่โรงพยาบาลทั่วไปในจังหวัด หรือโรงพยาบาลศูนย์ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ผู้ป่วยลดความเครียดจากการเดินทางได้อีกด้วย
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลรัฐ 2 แห่งในประเทศไทยที่นำร่อง (Pilot) ให้การรักษาพยาบาลโดยใช้การแพทย์ทางไกล
แหล่งข้อมูล –
- https://www.bangkokhealth.com/articles/การแพทย์ทางไกล-telemedicine-ในศตวร/ [2023, October 27].
- https://en.wikipedia.org/wiki/Telehealth [2023, October 27].