9. ตลาดการแพทย์ทางไกล – ตอนที่ 17
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 14 ตุลาคม 2566
- Tweet
การใช้ระบบอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย (Wide-spread) ช่วยขยายขอบเขต (Scope) ของ Tele-medicine ไปยังการประยุกต์ใช้บนพื้นฐานของเว็บไซต์ (Web-based application) เช่น จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (electronic mail หรือ e-mail), การประชุมทางไกล (Tele-conference), และการปรึกษาทางไกล (Tele-consultation)
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการใช้สื่อหลากหลาย (Multi-media) เช่น รูปถ่ายดิจิตอล (Digital picture) และวีดิทัศน์ (Video) ซึงจะนำไปสู่การสร้างซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application: App) ใหม่ๆ ในอนาคต เพื่อใช้ร่วมกับระบบกสนแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ตามลักษณะการรับส่งข้อมูล ดังนี้
- Store-and-forward tele-medicine (Asynchronous) เป็นการรับและส่งต่อข้อมูลด้านการแพทย์ เช่น ภาพ เอกซเรย์, ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory), ภาพถ่าย (Image) หรือคลิปวิดีโอ รวมถึงข้อมูลประวัติผู้ป่วยจากเวชระเบียน (Medical record) ไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ (Specialist) เพื่อการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา ข้อแตกต่างที่สำคัญของการแพทย์แบบเดิม (Conventional) กับการแพทย์ทางไกลประเภทนี้คือ
-
- แพทย์ที่รับข้อมูลจากต้นทางจะไม่สามารถซักประวัติหรือตรวจร่างกาย (Examine) ของผู้ป่วยได้โดยตรงแต่อาศัยข้อมูลรายงานประวัติความเจ็บป่วยและข้อมูลภาพหรือวีดีโอที่ได้รับส่งต่อมาเท่านั้น
- การใช้การแพทย์ทางไกล ประเภทนี้ทั้งผู้ส่งข้อมูลและผู้รับข้อมูลไม่ได้โต้ตอบ (Inter-active) ในเวลาเดียวกัน แต่จะส่งข้อมูลผ่านทางอีเมล หรือเครื่องบริการ (Server) ของระบบคอมพิวเตอร์ที่จัดไว้
- วิธีนี้นิยมใช้เพื่อปรึกษาขอการวินิจฉัยโรค (Diagnosis) หรือให้คำแนะนำการรักษาเกี่ยวกับโรคผิวหนัง (Skin) เรียกว่า Tele-dermatology, การรับส่งข้อมูลภาพถ่ายรังสี เรียกว่า Tele-radiology, หรือการรับส่งข้อมูลภาพชิ้นเนื้อจากกล้องจุลทรรศน์ (Tele-scope) เรียกว่า Tele-pathology
- Remote-monitoring tele-medicine (Self-monitoring/testing)นิยมใช้สำหรับการติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล เช่น โรคหัวใจ, เบาหวาน (Diabetes), หอบหืด (Asthma) เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ได้แก่ ผู้ป่วยตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Blood sugar) ด้วยตนเอง โดยใช้เครื่องเจาะน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้ว (Finger’s tip) แล้วส่งผลการตรวจผ่านทางโทรสาร (Fax), โทรศัพท์, หรืออีเมล มาให้แพทย์เพื่อแนะนำปรับยารักษาโรคเบาหวาน โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิก
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ผู้ป่วยที่รับประทานยาป้องกันลิ่มเลือด (Blood clot) เช่นยา Warfarin ซึ่งผู้ป่วยสามารถใช้เครื่องเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว เพื่อวัดค่าการแข็งตัวของเลือดด้วยตนเอง (Self-monitor) แล้วส่งผลที่ได้มาให้แพทย์ เพื่อพิจารณาปรับยาป้องกันลิ่มเลือด โดยปกติผู้ที่รับประทานยาป้องกันลิ่มเลือดควรตรวจวัดค่าการแข็งตัวของเลือดทุกเดือน หากผู้ป่วยอยู่ต่างจังหวัดหรือไม่สะดวกที่จะมาพบแพทย์ได้ทุกเดือน การใช้ระบบแพทย์ทางไกลวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถติดตาม (Follow-up) การใช้ยาและปรับขนาดยา (Dose) ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสร้างความพึงพอใจ (Satisfaction) ให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาพบแพทย์
แหล่งข้อมูล –
- https://www.bangkokhealth.com/articles/การแพทย์ทางไกล-telemedicine-ในศตวร/ [2023, October 13].
- https://en.wikipedia.org/wiki/Telehealth [2023, October 13].