ดิจิท็อกซิน (Digitoxin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 มีนาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ดิจิท็อกซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ดิจิท็อกซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ดิจิท็อกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ดิจิท็อกซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ดิจิท็อกซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ดิจิท็อกซินอย่างไร?
- ดิจิท็อกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาดิจิท็อกซินอย่างไร?
- ดิจิท็อกซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ (Cardiac glycoside)
- ไดจอกซิน (Digoxin)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
บทนำ: คือยาอะไร?
ดิจิท็อกซิน (Digitoxin)คือ ยาในกลุ่ม Cardiac glycoside ซึ่งมีประโยชน์ทางคลินิกคล้าย ยา Digoxin แต่ก็มีข้อแตกต่างกันที่ว่า ยา Digoxin ถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไปทางไต ในขณะที่ยาดิจิท็อกซินถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านตับ จึงเป็นเหตุผลที่สามารถใช้ยาดิจิท็อกซินรักษาอาการป่วยในผู้ที่มีไตทำงานผิดปกติได้
ปัจจุบันซีกโลกฝั่งตะวันตกมีการใช้ยาดิจิท็อกซินน้อยลงมาก ทางคลินิกใช้ยาดิจิท็อกซินเพื่อรักษาอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลวและควบคุมภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทั้งนี้ยานี้ในต่างประเทศมียาชื่อการค้า เช่นยา Lanoxin, Lanoxicap, Digitaline
รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่พบเห็นของยาดิจิท็อกซินจะเป็นยาชนิดรับประทาน ธรรมชาติของยาดิจิท็อกซินสามารถดูดซึมได้เป็นอย่างดีจากระบบทางเดินอาหาร ประมาณ 90% ของตัวยานี้ในกระ แสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน อวัยวะตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 7 วันหรือมากกว่านั้นในการกำจัดยาจำนวน 50% ออกจากร่างกาย การใช้ยาดิจิท็อกซินในผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาครั้งแรกในปริมาณมากเพื่อทำให้ปริมาณของยาในกระแสเลือดอยู่ในระดับของการรักษาได้อย่างรวดเร็วที่เรียกกันว่า “Digitalization”
ทั้งนี้อาการป่วยของหัวใจเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก หากไม่สามารถกระตุ้นให้หัวใจกลับมาทำงานให้เป็นปกติโดยเร็วก็จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต หลังจากให้ยาในปริมาณสูงที่ครั้งแรกแล้ว แพทย์จะปรับลดขนาดการให้ยาลงตามมาตรฐานทางเภสัชวิทยาพร้อมกับเฝ้าดูอาการจนผู้ป่วยมีสภาพร่างกายดีขึ้น
ปกติเรามักจะพบเห็นการใช้ยาดิจิท็อกซินแต่ในสถานพยาบาลเพื่อช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยโรคหัว ใจล้มเหลวซึ่งต้องอาศัยหัตถการทางการแพทย์ที่ถูกต้องมาประกอบกัน
ดิจิท็อกซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาดิจิท็อกซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- บำบัดและรักษาอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลว
ดิจิท็อกซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาดิจิท็อกซินจะออกฤทธิ์ต่อเยื่อหุ้มเซลล์ของหัวใจ ตัวยานี้จะยับยั้งกระบวนการทางชีวเคมีที่เรียกว่า โซเดียม-โปแตสเซียม/โพแทสเซียม เอทีพีเอส ปั๊ม (Sodium-Potassium-ATPase membrane pump) ทำให้เซลล์ของหัวใจมีปริมาณโซเดียมและแคลเซียมเพิ่มมากขึ้นจากสมดุลของน้ำและเกลือแร่ต่างๆในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจนี้เองทำให้การทำงานและการบีบตัวของหัวใจกลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียง ปกติ และเป็นที่มาของสรรพคุณของยานี้
ดิจิท็อกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาดิจิท็อกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 0.2 มิลลิกรัม/เม็ด
ดิจิท็อกซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาดิจิท็อกซินมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานขนาด 0.6 มิลลิกรัม หลังจากนั้นอีก 4 - 6 ชั่วโมงให้รับประทานยา 0.4 มิลลิกรัม หากจำเป็นอีก 4 - 6 ชั่วโมงถัดมาสามารถรับประทานยา 0.2 มิลลิกรัม หากอาการไม่ถึงขั้นรุนแรงมากอาจให้ผู้ป่วยรับประทานครั้งละ 0.2 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 4 วัน ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาให้รับประทาน 0.05 -3 มิลลิกรัมวันละครั้ง (ปกติแพทย์มักจะใช้ยาขนาด 0.15 มิลลิกรัม/วัน)
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): รับประทานยาขนาด 0.02 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยแพทย์จะพิจารณาขนาดการใช้ยานี้ที่เหมาะสมเป็นกรณีไป
*อนึ่งสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาดิจิท็อกซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดิจิท็อกซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาดิจิท็อกซินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาดิจิท็อกซินให้ตรงเวลา
ดิจิท็อกซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้ยาดิจิท็อกซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ท้องเสีย
- ปวดท้อง
- ปวดหัว
- ปวดใบหน้า
- อ่อนเพลีย
- ไม่มีแรง
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- รู้สึกสับสน
- ฝันร้าย
- ประสาทหลอน
- ลมชัก
- ตาพร่า
- หน้าอก/เต้านมโต
- ความดันโลหิตต่ำ
- ยานี้ยังอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ มีอาการหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะได้อีกด้วย
มีข้อควรระวังการใช้ดิจิท็อกซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาดิจิท็อกซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยที่มีภาวะ Wolff-Parkinson-White Syndrome (โรคหัวใจชนิดหนึ่งที่ มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) และภาวะ Hypertropic obstructive Cardio myopathy (โรคกล้ามเนื้อหัวใจโตเกินปกติ)
- ห้ามใช้ยานี้รักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ
- ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแบบเฉียบพลัน ผู้ที่ต่อมไทรอยด์ไม่ยอมทำงาน ผู้ที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำและเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาดิจิท็อกซิน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ดิจิท็อกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาดิจิท็อกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาดิจิท็อกซิน ร่วมกับยา Adenosine, Dolasetron (ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน) อาจเพิ่มความเสี่ยงของหัวใจเต้นผิดจังหวะ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาดิจิท็อกซิน ร่วมกับยากลุ่ม Hydrocortisone อาจทำให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น รวมถึงมีอาการชีพจรเต้นผิดจังหวะติดตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาดิจิท็อกซิน ร่วมกับยา Calcium carbonate สามารถทำให้ระดับของยาดิจิท็อกซิน ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยาดิจิท็อกซินตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาดิจิท็อกซิน ร่วมกับยา Pseudoephedrine, Phenylephrine สามารถทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงทำให้อัตราการเต้นของชีพจรและความดันโลหิตผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาดิจิท็อกซินอย่างไร?
ควรเก็บยาดิจิท็อกซิน:
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ดิจิท็อกซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาดิจิท็อกซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Crystodigin (คริสโทดิจิน) | Eli Lilly |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Digitoxin [2022,March19]
- https://www.mims.com/India/drug/info/digitoxin/?type=full&mtype=generic [2022,March19]
- https://medical-dictionary.thefreedictionary.com/digitoxin [2022,March19]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/digitoxin.html [2022,March19]
- https://www.medicinenet.com/digitalis_medicine-oral/article.htm [2022,March19]