ดาบิกาแทรน (Dabigatran)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ดาบิกาแทรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ดาบิกาแทรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ดาบิกาแทรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ดาบิกาแทรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ดาบิกาแทรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ดาบิกาแทรนอย่างไร?
- ดาบิกาแทรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาดาบิกาแทรนอย่างไร?
- ดาบิกาแทรนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือ คูมาดิน (Coumadin)
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
- หลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
บทนำ
ยาดาบิกาแทรน(Dabigatran หรือ Dabigatran etexilate mesylate หรือ Dabigatran etexilate) เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด(Anticoagulants) ชนิดรับประทานที่สามารถใช้ทดแทน ยาWarfarin ตัวยาดาบิกาแทรนจะออกฤทธิ์ต่อเอนไซม์ที่กระตุ้นการก่อตัวของก้อนลิ่มเลือด ที่เรียกว่า”ทรอมบิน(Thrombin)” ทางคลินิกได้นำเอายาดาบิกาแทรนมาใช้เป็นยาป้องกันโรคที่มีสาเหตุจากก้อนลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด/เส้นเลือด เช่น เส้นเลือดอุดตันหลังการผ่าตัด การอุดตันของหลอดเลือดดำในปอด การอุดตันของหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อย่างไรก็ตามยาดาบิกาแทรนก็มีข้อห้ามและข้อควรระวังเช่นเดียวกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่นๆ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาดาบิกาแทรนกับผู้ที่ใช้ลิ้นหัวใจเทียม ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- ห้ามใช้ยานี้ขณะที่มีเลือดออกจากอวัยวะภายในร่างกาย เช่นจาก กระเพาะอาหาร ลำไส้ สมอง เป็นต้น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง โดยใช้เกณฑ์ของค่าครีเอตินินเคลียแรนซ์ (Creatinine clearance)น้อยกว่า 30 มิลลิลิตร/นาที
- ห้ามใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานตัวอื่นๆ นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- การจะใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ผู้สูงอายุ(65 ปีขึ้นไป) มีโอกาสได้รับผลข้างเคียงจากยาดาบิกาแทรนมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- เพิ่มความระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องการใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
- ห้ามหยุดใช้ยานี้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการกลับมาก่อตัวของก้อนลิ่มเลือด
ผู้ที่ได้รับยาดาบิกาแทรน ยังต้องมารับการตรวจร่างกายจากแพทย์/มาโรงพยาบาลเป็นระยะๆเพื่อแพทย์ประเมินประสิทธิผลของการรักษาตลอดจนกระทั่งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยานี้ อย่างเช่น มีภาวะเลือดออกตามอวัยวะต่างๆของร่างกายหรือไม่ ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตรงตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
*ทั้งนี้ มีบางกรณีที่เกิดความผิดพลาดทำให้ผู้ป่วยได้รับยาดาบิกาแทรนเกิน ขนาด ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกภายในร่างกาย แพทย์อาจช่วยเหลือผู้ป่วยโดยให้รับประทานยาถ่านกัมมันต์ ร่วมกับการฟอกเลือดที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดรักษาที่แพทย์อาจจะนำมาใช้
ปัจจุบัน ทางเภสัชวิทยาค้นพบว่ายาในกลุ่ม Monoclonal Antibodies ที่ชื่อว่า Idarucizumab สามารถใช้เป็นยาต้านพิษ(Antidote) ของยาดาบิกาแทรนจึงทำให้เกิดทางเลือกใหม่ๆสำหรับผู้ที่ได้รับยาดาบิกาแทรนเกินขนาด
ตามกฎหมายของไทย โดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาดาบิกาแทรนเป็นยาประเภทยาควบคุมพิเศษ การสั่งจ่ายยานี้กับผู้ป่วยต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว และเราสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาดาบิกาแทรนในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า “Pradax”
ดาบิกาแทรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาดาบิกาแทรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือดในบริเวณหลอดเลือดที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่า หรือเปลี่ยนกระดูกสะโพก
- ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมอง(Stroke)
- ใช้รักษาอาการหลอดเลือดดำอุดตันแบบเฉียบพลัน(Acute deep vein thrombosis)
- ป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ของหลอดเลือดดำอุดตัน(Recurrent deep vein thrombosis)
ดาบิกาแทรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาดาบิกาแทรน มีกลไกการออกฤทธิ์รบกวนและกีดกันการทำหน้าที่ของสาร ทรอมบินซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในกระบวนการก่อตัวของลิ่มเลือด โดยตัวยานี้จะเข้ายับยั้งการทำงานของทรอมบินอิสสระและยับยั้งทรอมบินที่กำลังทำปฏิกิริยาเร่งการเปลี่ยนสารโปรตีนที่มีลักษณะเป็นเส้นใยอย่าง Fibrinogen ให้เป็น Fibrin/สารโปรตีนชนิดนี้เป็นตัวการสำคัญที่สร้างโครงตาข่ายของลิ่มเลือด ทำให้ลิ่มเลือดมีความแข็งแรง เมื่อ Fibrin ถูกยับยั้งการทำงานและโดนทำลายลง ลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นจะถูกกระบวน การของร่างกายย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้เป็นที่มาของสรรพคุณ
ดาบิกาแทรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาดาบิกาแทรนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่บรรจุ Dabigatran 75, 110 และ 150 มิลลิกรัม/แคปซูล
ดาบิกาแทรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาดาบิกาแทรนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับป้องกันการเกิดลิ่มเลือดเมื่อรับการผ่าตัดหัวเข่า:
- ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานยา 110 มิลลิกรัม ภายใน 1–4 ชั่วโมง หลังการผ่าตัด จากนั้น แพทย์อาจให้รับประทานยา 220 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลาต่อเนื่อง 10 วัน
ข. สำหรับป้องกันการเกิดลิ่มเลือดเมื่อรับการผ่าตัดสะโพก:
- ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานยา 110 มิลลิกรัม ภายใน 1–4 ชั่วโมง หลังการผ่าตัด จากนั้น แพทย์อาจให้รับประทานยา 220 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลาต่อเนื่อง 28–35 วัน
ค. สำหรับป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดสมอง หรือ การอุดตันของหลอดเลือดแดง:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และ ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานตลอดชีวิตโดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
ง. สำหรับรักษาการอุดตันของหลอดเลือดดำแบบเฉียบพลัน:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดยแพทย์อาจใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดที่ให้ทางหลอดเลือดดำเป็นเวลา 5 วัน ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาดาบิกาแทรนอย่างต่อเนื่องนานถึง 6 เดือน
อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยาดาบิกาแทรน ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก หรือในผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดาบิกาแทรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดาบิกาแทรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาดาบิกาแทรน สามารถรับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยานี้ที่ขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ตาม การหยุดรับประทานยาดาบิกาแทรน อย่างกะทันหันหรือลืมรับประทานยานี้บ่อยครั้ง อาจทำให้การก่อตัวของลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้
ดาบิกาแทรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาดาบิกาแทรนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา( ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เบื่ออาหาร ปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เช่น ในกระเพาะอาหาร ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เกิดแผลที่หลอดอาหาร มีเลือดออกทางทวารหนักคล้ายเป็นริดสีดวงทวาร
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะเลือดออกใต้ผิวหนัง เกิดลมพิษ ผื่นคัน
- ผลต่อไต: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจมีภาวะเลือดออกในตา(เช่นเลือดออกใต้เยื่อตา) เลือดออกในกะโหลกศีรษะ เลือดออกในไขสันหลัง เลือดออกในกล้ามเนื้อ เกิดโลหิตจาง มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอเป็นเลือด
มีข้อควรระวังการใช้ดาบิกาแทรนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาดาบิกาแทรน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามหยุดรับประทานหรือปรับขนาดรับประทานยานี้โดยมิได้ปรึกษาแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ด/แคปซูลยาแตกหัก
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะเพิ่มผลข้างเคียงจากยานี้อย่างรุนแรง
- ห้ามเคี้ยวยานี้ขณะรับประทาน ให้กลืนพร้อมกับน้ำดื่มอย่างเพียงพอ
- ระหว่างที่ใช้ยานี้หากพบอาการถ่ายเป็นสีดำเข้ม/อุจจาระเป็นเลือด ไอเป็นเลือด ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
- ตัวยานี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเลือดออกง่ายกว่าปกติ จึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรม หรือกีฬาที่อาจทำให้ร่างกายเกิดบาดแผลและทำให้มีเลือดออก เพราะจะเกิดการตกเลือดได้ง่าย
- รับประทานยานี้อย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาดาบิกาแทรนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ดาบิกาแทรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาดาบิกาแทรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาดาบิกาแทรนร่วมกับยา Ibuprofen, Urokinase, Alteplase ด้วยจะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายตามมา
- การใช้ยาดาบิกาแทรนร่วมกับยา Ketoconazole, Verapamil อาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประ ทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาดาบิกาแทรนร่วมกับยา Phenytoin, Rifampin ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาดาบิกาแทรนด้อยลง
ควรเก็บรักษาดาบิกาแทรนอย่างไร?
ควรเก็บยาดาบิกาแทรน ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ดาบิกาแทรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาดาบิกาแทรน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Pradaxa (พราดาซา) | Boehringer Ingelheim |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dabigatran [2017,Dec2]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/pradaxa/?type=brief [2017,Dec2]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/pradaxa/dosage [2017,Dec2]
- https://www.drugs.com/cdi/dabigatran-etexilate.html [2017,Dec2]
- https://www.drugs.com/sfx/dabigatran-side-effects.html [2017,Dec2]
- https://www.drugs.com/ppa/dabigatran-etexilate.html [2017,Dec2]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/dabigatran-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Dec2]