ซิตากลิปติน (Sitagliptin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 กันยายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาซิตากลิปตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาซิตากลิปตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาซิตากลิปตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาซิตากลิปตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาซิตากลิปตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาซิตากลิปตินอย่างไร?
- ยาซิตากลิปตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาซิตากลิปตินอย่างไร?
- ยาซิตากลิปตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา (Diabetic retinopathy)
- การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน (Diabetic foot care)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวานกับการตั้งครรภ์ (Diabetes mellitus and pregnancy)
บทนำ
ยาซิตากลิปติน (Sitagliptin) เป็นยารักษาโรคเบาหวานชนิด 2 (Diabetes mellitus type 2) ถูกออกแบบในรูปยารับประทาน สามารถใช้เป็นลักษณะของยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานตัวอื่นอีก เช่นยา Metformin หรือ Thiazolidinedione
ยาซิตากลิปตินถูกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) โดยใช้ชื่อการค้าว่า ‘Janu via’ จากนั้นมีการพัฒนาต่อยอด โดยนำยาซิตากลิปตินมาผสมกับยาเมทฟอร์มินและวางจำ หน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Janumet ‘ ในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554)
จากการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยาเมื่อเข้าสู่ร่างกายพบว่า ซิตากลิปตินสามารถจับตัวกับโปรตีนในเลือดได้ประมาณ 38% และถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยอวัยวะตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านมากับปัสสาวะและอุจจาระ
ด้วยยาซิตากลิปติน เป็นยาที่พึ่งเข้าวงการตลาดยามาไม่กี่ปี และยังมิได้ถูกบรรจุลงในบัญ ชียาหลักแห่งชาติ แต่ก็สามารถพบเห็นการใช้ยานี้ในสถานพยาบาลได้เช่นกัน
ยาซิตากลิปตินจัดอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ แต่สูตรตำรับที่มีซิตากลิปตินผสมรวมกับยาเมทฟอร์มินจะถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย ซึ่งมีข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังมากมาย การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
ยาซิตากลิปตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาซิตากลิปตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษาโรคเบาหวานชนิด 2 หรือ
- ใช้ร่วมผสมกับยารักษาโรคเบาหวานตัวอื่น เช่นยา เมทฟอร์มิน (Metformin), ซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) หรือใช้ร่วมกับ ยาฮอร์โมนอินซูลิน
ยาซิตากลิปตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาซิตากลิปตินมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อกระบวนการเคมีในร่างกาย ส่งผลให้เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน และยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon: ฮอร์ โมนอีกชนิดหนึ่งที่สร้างจากตับอ่อนเช่นเดียวกับอินซูลิน แต่มีหน้าที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด) จากกลไกนี้ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอยู่ในระดับปกติ และมีฤทธิ์ในการรักษาโรคเบา หวานตามสรรพคุณ
ยาซิตากลิปตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซิตากลิปตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- รูปแบบยาเดี่ยว ชนิดเม็ด ขนาดความแรง 25, 50, และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
- รูปแบบยาผสมกับเมทฟอร์มิน (Metformin) ชนิดเม็ด ขนาดความแรง 50/500 มิลลิกรัม/เม็ด (ซิตากลิปติน 50 มิลลิกรัม + เมทฟอร์มิน 500 มิลลิกรัม)
ยาซิตากลิปตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาซิตากลิปตินมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. ในรูปแบบของยาเดี่ยว: รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือใช้ควบคู่กับยารักษาโรคเบาหวานตัวอื่น เช่น เมทฟอร์มิน (Metformin), ซัลโฟนิลยูเรีย, หรืออินซูลิน
ข. ในรูปแบบของยาผสม (ซิตากลิปติน 50 มิลลิกรัม + เมทฟอร์มิน 500 มิลลิกรัม/เม็ด): รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น หลังอาหาร
* อนึ่ง:
- ขนาดรับประทานสูงสุดของยาซิตากลิปติน ต้องไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
- ยาซิตากลิปติน สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- การปรับขนาดการใช้ยานี้สำหรับผู้ป่วย ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วย ไม่ควรปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยาด้วยตนเอง
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซิตากลิปติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาซิตากลิปติน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาซิตากลิปติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาซิตากลิปตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซิตากลิปติน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น
- น้ำตาลในเลือดต่ำ (เช่น หิว คลื่นไส้ วิงเวียน เป็นลม)
- อาจพบภาวะตับอ่อนอักเสบ
- ส่วนภาวะไตวาย และอาการแพ้ยา ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการในผู้ป่วยที่เคยใช้ยานี้
มีข้อควรระวังการใช้ยาซิตากลิปตินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซิตากลิปติน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา ซิตากลิปติน
- หากพบอาการวิงเวียนศีรษะเมื่อใช้ยานี้ ควรให้ผู้ป่วยรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
- ระวังการใช้ยาซิตากลิปตินกับผู้ป่วยเบาหวานชนิด 1
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคไตล้มเหลว และผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบ
- ระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อใช้ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานตัวอื่นๆ จึงควรเฝ้าระวังและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังมีการใช้ยานี้อย่างใกล้ชิด
- ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ซึ่งในสัตว์ทดลองพบ ว่ายาซิตากลิปตินสามารถผ่านมากับน้ำนม แต่ยังไม่มีการศึกษากับมนุษย์ จึงไม่สมควรใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซิตากลิปตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาซิตากลิปตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซิตากลิปตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาซิตากลิปตินร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือต่ำได้ทั้ง 2 อย่าง ดังนั้น ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมโดยเด็ดขาด
- การใช้ยาซิตากลิปตินร่วมกับยาสเตียรอยด์ เช่นยา Dexamethasone อาจทำให้การควบ คุมน้ำตาลในกระแสเลือดของซิตากลิปตินด้อยประสิทธิภาพลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานของยาทั้งคู่ และมีการควบคุมน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด
- การใช้ยาซิตากลิปตินร่วมกับยาที่มีส่วนผสมของยาแก้หวัด เช่นยา Pseudoephedrine สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเมื่อมีการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาซิตากลิปตินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนสังเคราะห์ เช่นยา Ethinyl estradiol และ Drospirenone สามารถส่งผลให้ประสิทธิภาพของการลดน้ำตาลในเลือดของซิตากลิปตินด้อยประสิทธิภาพลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานให้กับผู้ป่วย
ควรเก็บรักษายาซิตากลิปตินอย่างไร?
สามารถเก็บยาซิตากลิปติน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาให้พ้น แสง/ แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาซิตากลิปตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซิตากลิปติน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Janumet (แจนูเมท) | MSD |
Januvia (แจนูเวีย) | MSD |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Sitagliptin#History [2020, Sept12]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fsitagliptin%3fmtype%3dgeneric[2020, Sept12]
3 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fJanumet%2f%3ftype%3dbrief[2020, Sept12]
4 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fJanuvia%2f%3ftype%3dbrief[2020, Sept12]
5 http://www.drugs.com/food-interactions/sitagliptin.html[2020, Sept12]