ซาลเมเทอรอล (Salmeterol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาซาลเมเทอรอล (Salmeterol) คือ ยาในกลุ่มออกฤทธิ์ยาวนาน (Long acting) ของ กลุ่มยา Beta 2-adrenergic receptor agonist ทางแพทย์นำมาใช้เป็นยาบำบัดรักษาโรคหืด (Asthma) รวม ถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/ โรคซีโอพีดี ซึ่งมักมีอาการหายใจได้สั้นๆ, มีเสียงหวีดของลมหายใจ/หายใจเสียงหวีด (Wheezing เสียงที่เกิดจากลมผ่านหลอดลมที่ตีบแคบ),ไอ, และแน่นหน้าอก, ซึ่งนับเป็นอาการที่สร้างความทรมานกับผู้ป่วยอย่างมาก

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาซาลเมเทอรอลจะเป็นยาชนิดพ่นเข้าทางปาก (Oral inhala tion) มีระยะเวลาออกฤทธิ์นานประมาณ 12 ชั่วโมงซึ่งยาวนานกว่าของยา Salbutamol ที่ออกฤทธิ์ได้ประมาณ 4 - 6 ชั่วโมงเท่านั้น

การใช้ยาซาลเมเทอรอล ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น ให้พ่นยาทุกวันจนกว่าแพทย์จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ฤทธิ์ของยาจะทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่อวัยวะในช่องทางเดินหายใจคลายตัวส่งผลให้ทางเดินหายใจเปิดกว้างและผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น

จากการใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งท้อง พบว่าตัวอ่อนที่ได้รับยาจะเจริญเติบโตแบบผิดรูปร่างและพิการ และถึงแม้จะยังไม่มีการทดลองกับมนุษย์อย่างแน่ชัด แต่ถือเป็นข้อห้ามและข้อระวังมิควรใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร สำหรับอาการข้างเคียงของยาซาลเมเทอรอลนั้นอาจเกิดกับผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพร่างกายรวมถึงโรคประจำตัวของแต่ละบุคคลที่มีแตกต่างกันออกไป

มีการศึกษาการกระจายตัวของยานี้ภายในร่างกายมนุษย์และพบว่า หลังพ่นยานี้ จะมีการดูดซึมยานี้เข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาประมาณ 96% จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน จากนั้นจะถูกลำเลียงไปที่ตับเพื่อเผาผลาญและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5.5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดปริมาณยาครึ่งหนึ่งที่ได้รับออกจากกระแสเลือด

ผู้ป่วยบางกลุ่มที่ป่วยด้วยโรคหืด อาจต้องใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ชนิดพ่นร่วมกับยาซาลเมเทอรอลทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมฤทธิ์และป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจกำเริบขึ้นมาโดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน

ก่อนที่แพทย์จะสั่งจ่ายยานี้ ผู้ป่วยมักจะได้รับคำถามต่างๆซึ่งผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์ด้วยจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาและปลอดภัยกับตนเองเมื่อต้องใช้ยานี้ เช่น

  • หากเป็นสตรีอยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาอยู่หรือไม่
  • เคยแพ้ยานี้หรือไม่ ใช้ยาอะไรอยู่ก่อนหน้านี้
  • มีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วยอยู่หรือไม่เช่น โรคตับ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคความดันโลหิตต่ำ

หลังการจ่ายยานี้ แพทย์พยาบาลจะกำกับวิธีการใช้ พร้อมกับนัดผู้ป่วยเป็นระยะๆ เพื่อเฝ้าติด ตามอาการหลังการรักษา ผู้ป่วยควรต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายด้วยอาจมีการปรับแนวทางการรักษาไม่ว่าจะเป็นกรณีที่อาการดีขึ้นหรือแย่ลงก็ตาม

ซาลเมเทอรอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

ซาลเมเทอรอล

ยาซาลเมเทอรอลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาอาการโรคหืด (Asthma)
  • รักษาอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/ โรคซีโอพีดี (Chronic obstructive pulmonary disease)
  • ป้องกันหลอดลมหดเกร็งตัวก่อนการออกกำลังกาย

ซาลเมเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซาลเมเทอรอล จะออกฤทธิ์เป็นลักษณะของยาซิมพาโทมิเมติก (Sympathomimetic drug ) โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับในหลอดลมที่มีชื่อว่า เบต้า-2 รีเซพเตอร์ (Beta 2 receptor) ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมคลายตัวส่งผลให้การหายใจสะดวกขึ้น และเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ซาลเมเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซาลเมเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

ก.ยาพ่นที่ผสมร่วมกับยา Fluticasone (ยาโรคภูมิแพ้) เช่น

  • Salmeterol 50 ไมโครกรัม + Fluticasone 100 ไมโครกรัม/พ่น 1 ครั้ง
  • Salmeterol 50 ไมโครกรัม + Fluticasone 250 ไมโครกรัม/พ่น 1 ครั้ง
  • Salmeterol 50 ไมโครกรัม + Fluticasone 500 ไมโครกรัม/พ่น 1 ครั้ง
  • Salmeterol 25 ไมโครกรัม + Fluticasone 125 ไมโครกรัม/พ่น 1 ครั้ง
  • Salmeterol 25 ไมโครกรัม + Fluticasone 250 ไมโครกรัม/พ่น 1 ครั้ง
  • Salmeterol 25ไมโครกรัม + Fluticasone 50 ไมโครกรัม/พ่น 1 ครั้ง

ข. ยาพ่นที่เป็นลักษณะยาเดี่ยวเฉพาะยาซาลเมเทอรอลขนาด 25 ไมโครกรัม/พ่น 1 ครั้ง

ซาลเมเทอรอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาซาลเมเทอรอลมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น

ก. สำหรับบรรเทาและรักษาอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง:

  • ผู้ใหญ่: พ่นยาเข้าปาก 2 ครั้งเทียบเท่ากับยา 50 ไมโครกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดบรรเทาและรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังของเด็กยังมิได้มีการจัดทำแน่ชัด

ข. สำหรับบำบัดรักษาอาการโรคหืด:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป: พ่นยาเข้าปาก 2 ครั้งเทียบเท่ากับยา 50 ไมโครกรัมทุกๆ 12 ชั่วโมง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี: ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดถึงผลของยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ค. สำหรับป้องกันหอบหืดก่อนการออกกำลังกาย:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป: พ่นยาเข้าปาก 2 ครั้งเทียบเท่ากับยา 50 ไมโครกรัมก่อนออกกำลังกาย 30 - 60 นาที
  • เด็กอายุต่ำกว่า 4ปี: ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดถึงผลของยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซาลเมเทอรอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซาลเมเทอรอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?

หากลืมพ่นยาซาลเมเทอรอล สามารถพ่นยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับใช้ยาในครั้ง ถัดไป ไม่จำเป็นต้องพ่นยาเป็น 2 เท่า

ซาลเมเทอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

สำหรับผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากการใช้ซาลเมเทอรอลแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย:

ก. อาการข้างเคียงที่พบบ่อย: เช่น

  • ไอและมีเสมหะร่วมด้วย
  • อึดอัดหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก แต่อาการไม่มาก
  • ปวดหัว
  • ระคายคอ
  • คัดจมูก
  • จาม
  • แน่นหน้าอกไม่มาก
  • หายใจเสียงหวีด

ข. อาการข้างเคียงที่พบน้อย: เช่น

  • ปวดท้อง
  • ตาพร่า
  • มีผื่นคัน
  • รู้สึกเหมือนถูกเข็มทิ่มตำ
  • หนาวสั่น
  • ตัวเย็น
  • ไอไม่มีเสมหะ
  • ท้องเสีย
  • วิงเวียน
  • ปากแห้ง
  • มีไข้คล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่
  • รู้สึกไม่สบายตัว
  • หิวและกระหายน้ำบ่อย
  • ปัสสาวะถี่/บ่อย
  • ปวดข้อ
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • คลื่นไส้
  • กระสับกระ ส่าย
  • หัวใจเต้นช้า
  • เป็นแผลในปากหรือที่ลิ้น
  • เหงื่อออกมาก
  • ตัวบวม
  • นอนไม่หลับ
  • อ่อนเพลีย
  • อาเจียน
  • เป็นรอยด่างในปาก

อนึ่ง อาการข้างเคียงบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาด้วยร่างกายจะค่อยๆปรับตัวจนคุ้นเคยไปเอง แต่ถ้าพบอาการข้างเคียงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันหรือกังวลในอาการ ควรกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

ค. ****สำหรับอาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: เช่น

  • ปวดแขน-ปวดหลัง และปวดกราม
  • สับสน
  • วิงเวียน
  • เป็นลม
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือไม่ก็ หัวใจเต้นช้า
  • มือ-เท้า-ขา สั่น นอนไม่หลับต่อเนื่อง

****ซึ่งหากมีอาการเหล่า นี้ควรรีบไปโรงพยาบาลไม่ต้องรอวันนัด/ ไปโรงพยาบาลฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

มีข้อควรระวังการใช้ซาลเมเทอรอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซาลเมเทอรอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และในเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี
  • เรียนรู้วิธีการใช้ยานี้อย่างถูกต้องจากแพทย์/เภสัชกร/พยาบาล และใช้ยาให้ตรงเวลา
  • หากเปิดใช้ยานี้แล้วมีอายุการใช้งานไม่เกิน 6 สัปดาห์
  • ปิดตัวบังคับการพ่นยานี้ทุกครั้งหลังใช้ยา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) ผู้ป่วยโรค ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยด้วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • การใช้ยานี้ขณะที่เกิดอาการหอบหืดแบบเฉียบพลันอาจไม่เห็นผลการบรรเทาอาการอย่างรวดเร็ว
  • ระหว่างการใช้ยานี้แพทย์จะคอยควบคุมระดับเกลือโพแทสเซียมในกระแสเลือดให้เป็นปกติตลอดเวลาด้วยการตรวจเลือดเป็นระยะๆตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซาลเมเทอรอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ซาลเมเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซาลเมเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาซาลเมเทอรอล ร่วมกับ ยากลุ่ม MAOIs หรือกลุ่ม TCAs หรือกลุ่ม Sympathomime tics อาจเกิดความเสี่ยงเกิดความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาซาลเมเทอรอล ร่วมกับ ยาขับปัสสาวะ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) รวมถึงยากลุ่ม Xanthines อาจทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำลงจนก่อให้เกิดผลเสียตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาซาลเมเทอรอล ร่วมกับยา Digoxin หรือยากลุ่ม Cardiac glycosides จะเพิ่มความเสี่ยงของหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาซาลเมเทอรอลอย่างไร?

ควรเก็บยาซาลเมเทอรอล:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในรถยนต์หรือในห้องน้ำ
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ซาลเมเทอรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซาลเมเทอรอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Seretide (เซเรไทด์) GlaxoSmithKline
Serevent (เซเรเวนท์) GlaxoSmithKline
Seroflo 125 (เซโรโฟล) Cipla

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Beta2-adrenergic_agonist [2021,Feb6]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Salmeterol [2021,Feb6]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/salmeterol?mtype=generic [2021,Feb6]
  4. https://www.drugs.com/sfx/salmeterol-side-effects.html [2021,Feb6]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=salmeterol [2021,Feb6]
  6. https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.168.pdf [2021,Feb6]