ซัลฟินไพราโซน (Sulfinpyrazone)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ซัลฟินไพราโซน (Sulfinpyrazone) คือ ยาโรคเกาต์ จัดเป็นยาในกลุ่มไพรมารียูริโคซูริก (Primary uricosuric) ออกฤทธิ์ที่ไตโดยยับยั้งการดูดกรดยูริคที่กรองผ่านไตกลับเข้าสู่กระแสเลือด  ถูกนำมาเป็นยารักษาโรคเกาต์, บางกรณีก็นำมาเป็นยายับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด, รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ทั่วไปเป็นยารับประทาน

กรณียาซัลฟินไพราโซน ชนิดรับประทาน มีข้อพึงระวังบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบเมื่อต้องรับประทานยานี้ คือ ควรดื่มน้ำเป็นปริมาณ 8 – 10 แก้วต่อวันเพื่อลดความเสี่ยงการตกตะกอนของกรดยูริคในน้ำปัสสาวะที่ไตกรองออกมาที่จะเป็นสาเหตุเกิดนิ่วในไต 

 ตัวยาซัลฟินไพราโซนในกระแสเลือดจะจับตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 98 – 99%, ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเคมีของยาซัลฟินไพราโซนอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ 

การรับประทานยาซัลฟินไพราโซน พร้อมอาหาร หรืออาจดื่มนมร่วม หรืออาจรับประทานยาลดกรดร่วมด้วย (ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร แล้วจึงปฏิบัติตาม) จะช่วยลดอาการระคายเคืองของยานี้ที่อาจเกิดกับกระเพาะอาหาร-ลำไส้ 

นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามรับประทานยาซัลฟินไพราโซน ร่วมกับยา Aspirin, Salsalate, Magnesium salicylate, ด้วยยาเหล่านี้จะทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยาซัลฟินไพราโซนลดน้อยลงไป 

อุปสรรคบางประการที่ทำให้แพทย์ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น หากจะใช้ยาซัลฟินไพราโซนรักษาโรคให้ผู้ป่วย กล่าวคือ  ผู้ป่วยต้องไม่เป็นโรคไต หรือมีนิ่วในไต หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร หรือป่วยเป็นโรคของระบบเลือดต่างๆ,  รวมถึงต้องไม่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของตนเอง   

*การใช้ยาซัลฟินไพราโซนผิดขนาด หรือการได้รับยานี้มากเกินไป สามารถสังเกตได้จากมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน  ท้องเสีย  ปวดท้อง  การทรงตัวได้ไม่เหมือนปกติ  หายใจลำบาก อาจมีอาการชัก และภาวะโคม่าตามมา, *กรณีรุนแรงสามารถทำให้ถึงตายได้  ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ยาซัลฟินไพราโซน จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปหาซื้อยานี้มารับประทานเอง, จำเป็นที่จะต้องผ่านการตรวจคัดกรองร่างกายและให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาแต่เพียงผู้เดียว

ซัลฟินไพราโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาซัลฟินไพราโซนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดรักษาอาการข้ออักเสบจากโรคเกาต์

ซัลฟินไพราโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซัลฟินไพราโซนมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ไตตรงบริเวณที่เรียกว่า Proximal convoluted tubule (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไต) ส่งผลให้ยับยั้งการดูดกลับของกรดยูริคที่ผ่านมาที่ไต  ทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดถูกขับออกทางปัสสาวะและเกิดฤทธิ์ของการรักษาโรคเกาต์,   กลไกนี้เองที่ทำให้แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยควรดื่มน้ำมากอย่างพอเพียง เพื่อช่วยมิให้เกิดการตกตะกอนของยาในไต, และไตทำงานหนักมากขึ้น

ซัลฟินไพราโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซัลฟินไพราโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น  

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 200 มิลลิกรัม/แคปซูล

ซัลฟินไพราโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาซัลฟินไพราโซน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 200 – 400 มิลลิกรัม/วัน พร้อมอาหารหรือนม หรือตามแพทย์/เภสัชกรแนะนำ, โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง เช้า – เย็น, ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษา คือ 400 มิลลิกรัม/วัน, แพทย์สามารถเพิ่มขนาดรับประทานได้สูงสุดถึง 800 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

* อนึ่ง:

  • เมื่อรับประทานยานี้จนควบคุมระดับกรดยูริคในเลือดได้เป็นปกติ แพทย์อาจลดขนาดยาลงได้ต่ำสุด คือ 200 มิลลิกรัม/วัน        
  • บางกรณีแพทย์อาจใช้ยา Colchicine ร่วมในการรักษาโรคเกาต์ด้วย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาซัลฟินไพราโซน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น                      

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ฬช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น  หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย                                                                                                                                    
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซัลฟินไพราโซน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซัลฟินไพราโซน   สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป  ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาซัลฟินไพราโซน ตรงเวลา

ซัลฟินไพราโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซัลฟินไพราโซนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น แผลในกระเพาะอาหาร
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจทำให้เกิด ภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำจนอาจถึงระดับรุนแรง    เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผื่นคัน
  • ผลต่ออวัยวะไต: เช่น เกิดภาวะไตอักเสบ, ยับยั้งการสังเคราะห์สารโพรสตาแกลนดิน

มีข้อควรระวังการใช้ซัลฟินไพราโซนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซัลฟินไพราโซน: เช่น             

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยโรคไต
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ
  • ดื่มน้ำต่อวันเป็นปริมาณเพียงพอ 8 – 10 แก้วเมื่อใช้ยานี้ เพื่อหลีกเลี่ยงยาตกตะกอนในไต
  • รับประทานอาหารที่ช่วยลดปริมาณกรดยูริคในร่างกาย โดยทำตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล  โภชนากร
  • *หยุดการใช้ยานี้ทันที ถ้าพบอาการแพ้ยาเกิดขึ้น เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก   ตัวบวม  หรือมีผื่นคันขึ้นเต็มตัว แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • *หากอาการยังไม่ดีขึ้นตามระยะเวลาที่เหมาะสมหลังการใช้ยานี้ ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแผนการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซัลฟินไพราโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด   อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ซัลฟินไพราโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซัลฟินไพราโซน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยาซัลฟินไพราโซน ร่วมกับยา Anisindione, Warfarin อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้น  หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน   แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาซัลฟินไพราโซน ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด Estradiol อาจทำให้ประจำเดือนผิดปกติ หรือก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์  เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว  แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาซัลฟินไพราโซน ร่วมกับยา Acetaminophen/พาราเซตามอล อาจส่งผลเสียต่อการทำงานของตับ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน  แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาซัลฟินไพราโซนอย่างไร?

ควรเก็บยาซัลฟินไพราโซน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ซัลฟินไพราโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซัลฟินไพราโซน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Anturane (แอนทูแรน) Novartis
Sulfin (ซัลฟิน) American Taiwan Biopharm

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Uricosuric  [2022,Nov12]
  2. https://www.drugs.com/sfx/sulfinpyrazone-side-effects.html  [2022,Nov12]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Sulfinpyrazone  [2022,Nov12]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/sulfinpyrazone?mtype=generic  [2022,Nov12]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Sulfin/?type=brief  [2022,Nov12]