จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 396: ปัญหาจากแบบทดสอบทางไอคิว (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 396: ปัญหาจากแบบทดสอบทางไอคิว (2)

จากพื้นฐานประสบการณ์ของแลรี่ ซึ่งเป็นเด็กชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ได้ย้ายจากห้องเรียนเด็กพิเศษ (ห้องเรียนสำหรับเด็ก ที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา) มาสู่ห้องเรียนปกติ ส่งผลให้มีข้อร้องเรียน เพื่อต่อต้านระบบการสอนของโรงเรียนใน นครซานฟรานซิสโก (San Francisco) ที่นำมาใช้กับเด็กชาวแอฟริกัน-อเมริกันในท้องถิ่นนั้น

พ่อแม่ของเด็กชาวแอฟริกัน-อเมริกันอยากรู้ว่า ทำไมจำนวนลูกของตนเองที่เป็นชาวผิวสีดำมีมากถึง 27% ของจำนวนเด็กทั้งหมดในห้องเรียนสำหรับเด็กพิเศษ ทั้งๆ ที่จำนวนเด็กชาวแอฟริกัน-อเมริกันนับเป็นเพียง 4% ของจำนวนเด็กทั้งหมดในโรงเรียน

พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้คิดว่า อาจมีอคติด้านเชื้อชาติ ในระบบการคัดเลือกเด็กสำหรับห้องเรียนพิเศษ

แม้ว่ากรณีของแลรี่เกิดขึ้นเมื่อต้นปีคริสตทศวรรษ 1970s แต่ข้อตัดสินอย่างเป็นทางการได้เกิดขึ้นเมื่อปี 1979 หลังผ่านกระบวนการของศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลาง โดยผู้พิพากษาเห็นด้วยกับพ่อแม่ของเด็กชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และพบว่า แบบทดสอบทางไอคิวที่นำมาใช้เพื่อวัดค่าทางสติปัญญาในโรงเรียน มีข้อบิดเบือนเพื่อต่อต้านเด็กผิวสีดำ

ศาลได้ตั้งกฎเกณฑ์ว่า โรงเรียนในรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) จะไม่สามารถนำเด็กผิวสีดำไปอยู่ในห้องเรียนสำหรับเด็กพิเศษได้ หากอิงจากแบบทดสอบทางไอคิวเพียงอย่างเดียว โรงเรียนจำเป็นต้องมีแบบทดสอบที่ไม่มีอคติกับเด็กผิวสีดำ แม้จำเป็นต้องมีมาตราฐานเพื่อใช้แยกแยะเด็กที่เรียนรู้ได้ช้า ก็ตาม

รัฐอื่นๆ ก็ได้นำแบบทดสอบทางไอคิว มาใช้เพื่อบ่งชี้ความบกพร่องทางสติปัญญา ดังนั้นในหลายรัฐจึงไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว ตัวอย่างเช่น เด็กที่มีไอคิวต่ำกว่า 80 ในรัฐโอไฮโอ จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ในขณะที่ชายแดนฝั่งรัฐเคนตั๊กกี้ เด็กกลุ่มนี้จะถูกจัดอยู่ในห้องเรียนทั่วไปและได้รับการสอนรวมกับเด็กกลุ่มอื่น

ข้อเท็จจริงก็คือใน 39 รัฐ เด็กนักเรียนชาวแอฟริกัน-อเมริกันถูกนำไปอยู่ในห้องเรียนสำหรับเด็กพิเศษ โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในย่านของคนผิวขาว

ดังนั้น จึงมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบการสอนดังกล่าวว่า ปัจจัยที่ใช้ในการจัดเด็กผิวสีดำไปอยู่ในห้องเรียนสำหรับเด็กพิเศษนั้น เกินความเป็นจริง เพราะมันไม่ได้เกี่ยวกับความบกพร่องของระดับสติปัญญา แต่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนในการแบ่งแยกทางวัฒนธรรม เช่น ความเชื่อที่บิดเบือนเกี่ยวกับวัฒนธรรม (Cultural bias)

นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสอนแนะนำว่าคะแนนสอบทางไอคิวเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจเกี่ยวกับระบบการศึกษาของเด็กคนนั้นไปจนถึงอนาคต

แต่เป็นสิ่งที่แนะนำแนวทางการเรียนของเด็กคนนั้น โดยเฉพาะการนำเด็กไปอยู่ในห้องเรียนสำหรับเด็กพิเศษจะถูกพิจารณาเพียงต่อเมื่อ ผู้ให้แบบทดสอบได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กคนนั้นมากพอ อันเกี่ยวโยงกับคะแนนจากแบบทดสอบทางไอคิว รวมถึงพฤติกรรมของเด็กจากสถานการณ์ต่างๆ ด้วย

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik (2002). Introduction to Psychology (6th Ed).  Pacific Grove, CA: Wadsworth - Thompson Learning.
  2. Intelligence - https://en.wikipedia.org/wiki/Intelligence [2022 Dec 10].