จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 362: พื้นฐานทางชีวภาพของความทรงจำ (2)
- โดย ภู ภักดิ์วิไลเกียรติ
- 20 มีนาคม 2565
- Tweet
จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 362: พื้นฐานทางชีวภาพของความทรงจำ (2)
สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการอธิบายเกี่ยวกับเยื่อหุ้มสมอง (Cortex) ว่ามีผลต่อความทรงจำระยะสั้น (Short-term memory) และความทรงจำระยะยาว (Long-term memory) อย่างไร
สัปดาห์นี้เราจะพูดคุยถึงประเภทความทรงจำที่ต่างกัน ว่าส่งผลถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสมองอย่างไร?
สมมติว่าทุกครั้งที่คนเราได้ยินเพลงที่มีความเชื่อมโยงกับรักแรกพบ เขามักจะมีความรู้สึกใฝ่ฝันถึงเรื่องความรักใคร่ (Romantic) ความรู้สึกทางอารมณ์นี้ เชื่อมโยงกับความทรงจำของสมองส่วนที่เรียกว่า อมิกดาลา (Amygdala)
สมองส่วนนี้มีรูปทรงคล้ายเม็ดอัลมอลด์ (Almond) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ด้านล่างพื้นผิวของเยื่อหุ้มสมอง (Cortex) ด้านในส่วนปลายของกลีบสมองส่วนขมับ (Temporal lobe)
คนเราที่มีส่วนสมองอมิกดาลาเสียหาย จะสูญเสียความเชื่อมโยงระหว่างอารมณ์กับความทรงจำ เช่น การได้ยินเสียงดังหรือ เสียงแตรที่ไม่น่ารื่นรมย์ แต่กลับไม่รู้สึกไม่รื่นรมย์
นักวิจัยสรุปว่าส่วนสมองอมิกดาลา ส่งผลอย่างร้ายแรงในการเพิ่มความรู้สึกทางอารมณ์ที่รุนแรง (ไม่ว่าจะรื่นรมย์หรือรังเกียจ) เข้าไปในความทรงจำ
เช่นเดียวกับการสั่งบันทึกข้อมูลในคอมพิวเตอร์ที่เคลื่อนย้ายไฟล์เข้าไปยังพื้นที่จัดเก็บถาวรบนฮาร์ดไดรฟ์ สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ก็เคลื่อนย้ายคำศัพท์, ข้อเท็จจริง, และเหตุการณ์ส่วนบุคคลจากความทรงจำระยะสั้นไปยังความทรงจำระยะยาว สมองส่วนนี้เป็นเส้นโค้งที่โครงสร้างคล้ายนิ้วอยู่ใต้เยื่อหุ้มสมองด้านในของกลีบสมองส่วนขมับ
ผู้ป่วยที่สมองส่วนฮิปโปแคมปัสและส่วนรอบเยื่อหุ้มสมองเสียหาย จะไม่สามารถบันทึกหน่วยความจำเชิงประกาศ (Declarative memories) เช่นคำศัพท์, ข้อเท็จจริง, และเหตุการณ์ส่วนบุคคลที่เข้ามาใหม่ เพราะสมองส่วนนี้ต้องการเคลื่อนย้ายข้อมูลจากความทรงจำระยะสั้นไปยังความทรงจำระยะยาว
อย่างไรก็ตาม คนเราที่สมองส่วนฮิปโปแคมปัสเสียหาย สามารถเรียนรู้และสามารถจดจำข้อมูลเชิงไม่ประกาศ (Non-declarative) หรือข้อมูลเชิงขั้นตอน เช่นทักษะการเคลื่อนไหว แต่ไม่สามารถจำได้ว่าเคยมีทักษะการเคลื่อนไหวนั้นจริง (เช่น การเล่นเทนนิส) เพราะว่ามันคือเหตุการณ์ส่วนบุคคล (ความทรงจำเชิงประกาศ)
สมองส่วนนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการเคลื่อนย้ายข้อมูลเชิงประกาศ (คำศัพท์, ข้อเท็จจริง, และเหตุการณ์) จากความทรงจำระยะสั้นไปยังความทรงจำระยะยาวแต่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายข้อมูลเชิงไม่ประกาศ
งานวิจัยล่าสุดบ่งชี้ว่า สมองเยื่อหุ้มสมองจัดเก็บข้อมูลในความทรงจำระยะสั้น แล้วต่อมา สมองส่วนฮิปโปแคมปัสเคลื่อนย้ายหรือบันทึกข้อมูลเชิงประกาศในความทรงจำระยะยาว แต่ไม่เคลื่อนย้ายข้อมูลเชิงไม่ประกาศไปยังความทรงจำระยะยาว และสมองส่วนอมิกดาลาช่วยเพิ่มความเชื่อมโยงทางอารมณ์ในความทรงจำ
แหล่งข้อมูล
- Plotnik (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth - Thompson Learning.
- Organization of memory - https://en.wikipedia.org/wiki/Organizational_memory [2022, Mar 19].