จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 359: ตัวชี้นำการนึกถึง (1)
- โดย ภู ภักดิ์วิไลเกียรติ
- 27 กุมภาพันธ์ 2565
- Tweet
จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 359: ตัวชี้นำการนึกถึง (1)
หลายคนอาจเคยพบเจอปัญหาเวลาที่ตัวเองจะจอดรถยนต์ในห้างสรรพสินค้า แต่ต้องตระเวนไปรอบๆ เพื่อหาที่จอด ในกรณีนี้มีความเป็นไปได้ว่าเหตุผลของการลืมมีความเชื่องโยงกับ “ตัวชี้นำการนึกถึง” (Retrieval cues) ที่ไม่เพียงพอ
ตัวชี้นำการนึกถึง เป็นการแจ้งเตือนทางจิตที่คนเราสร้างขึ้น โดยการก่อรูปภาพทางจิตให้ชัดเจน เกี่ยวกับข้อมูลหรือการเชื่อมโยงข้อมูลใหม่กับข้อมูลที่ตนเองรู้อยู่แล้ว
ตัวชี้นำการนึกถึง เป็นสิ่งสำคัญในการซ่อนข้อมูลด้วยเช่นกัน นักวิจัยให้นักศึกษา (ผู้เข้าทดลอง) ซ่อนสิ่งของในที่ที่พวกเขาเก็บของทั่วไป เช่น ลิ้นชักหรือตู้เสื้อผ้า และในสถานที่ที่พวกเขาไม่คุ้นเคย เช่น กล่องรองเท้าเก่าหรือกล่องอาหารเช้า
ต่อมานักวิจัยให้ผู้เข้าทดลองบอกตำแหน่งของสิ่งของที่นำไปซ่อนในสถานที่ข้างต้น ได้พบว่านักศึกษาสามารถจดจำสิ่งของที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่ทั่วไปและลืมสิ่งของที่ถูกซ่อนในที่ที่พวกเขาไม่คุ้นเคย
การลืมสถานที่ที่พวกเขาซ่อนของและการลืมสถานที่จอดรถ ชี้นำให้เห็นว่าคนเราจำเป็นต้องสร้างตัวชี้นำการนึกถึงที่ดี
สาเหตุหนึ่งที่มนุษย์ลืมบางสิ่ง (ความหมาย, ชื่อ, เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ) เพราะพวกเขาไม่ได้ใช้เวลาเพื่อสร้างตัวชี้นำที่มีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างเช่นมนุษย์สามารถสร้างตัวชี้นำที่มีประสิทธิภาพ โดยการสร้างภาพในจิตใจที่ชัดเจนของข้อมูล, ทำการเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลใหม่กับข้อมูลเก่า, หรือการทำเครื่องหมายที่มีจุดเด่นแต่เป็นความเชื่องโยงที่น่าจดจำ เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น นักวิจัยสงสัยว่าประโยคประเภทไหนที่จะทำให้นักศึกษา (ผู้เข้าทดลอง) จดจำได้ดีกว่ากัน ระหว่างประโยคทั่วไป เช่น รถไฟขบวนใหม่ที่แล่นผ่านทุ่งสตรอเบอร์รี่ หรือประโยคที่มีความแปลกประหลาด เช่นรถไฟขบวนใหม่ที่เกิดความบกพร่องจากลูกสตรอเบอร์รี่สด
จาก 2 ประโยคตัวอย่างข้างต้น คอมพิวเตอร์ได้มีการสุ่มเพื่อแสดง 12 ประโยคทั่วไปและ 12 ประโยคประหลาด โดยให้นักศึกษาสร้างภาพในจิตใจให้ชัดเจนจากฉาก (Scenario) ต่างๆ ตามประโยค
ต่อมาเมื่อมีการทดสอบอีกครั้ง ผู้เข้าทดลองนึกถึงประโยคประหลาดได้มากกว่าประโยคทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ นักวิจัยสรุปว่าผู้เข้าทดลองจดจำประโยคประหลาดได้ดีกว่า เพราะว่าพวกเขาสร้างภาพในจิตใจหรือสร้างความเชื่อมโยงได้ดีกว่า อันก่อรูปตัวชี้นำการนึกถึงได้ดีกว่า
ตัวชี้นำการนึกถึง ที่ไม่ดีอาจทำให้เกิดปัญหาในชั้นศาล เช่นขณะชี้ตัวผู้ร้าย เคยมีกรณีที่พยานชี้ตัวผู้ร้ายคนหนึ่งโดยที่ต่อมาได้มีการพิสูจน์ว่าผู้ร้ายคนนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ อ้างอิงจากผลตรวจดีเอ็นเอ (DNA) แม้มีการบอกว่าผู้ต้องหาที่เป็นผู้บริสุทธิ์ต้องใช้เวลาหลายปีในเรือนจำ พยานคนดังกล่าวก็ยังยืนกรานว่าเขาได้ชี้ตัวผู้ร้ายถูกคน
ในสัปดาห์ต่อไปจะอธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมพยานคนดังกล่าวถึงชี้ตัวผู้ร้ายผิดคน
แหล่งข้อมูล
- Plotnik (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth - Thompson Learning.
- Organization of memory - https://en.wikipedia.org/wiki/Organizational_memory [2022, Feb 26].