จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 358: สิ่งรบกวน (2)
- โดย ภู ภักดิ์วิไลเกียรติ
- 20 กุมภาพันธ์ 2565
- Tweet
จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 358: สิ่งรบกวน (2)
สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้พูดเกี่ยวกับสิ่งรบกวน (Interference) อันประกอบไปด้วย 2 ประเภทคือสิ่งรบกวนเชิงรุก (Proactive) ที่ส่งผลไปด้านหน้าและการเชิงรับ หรือการรบกวนย้อนกลับ (Retroactive) อันส่งผลไปด้านหลัง
ความหมายของคำว่าเชิงรับ คือ “ย้อนกลับ” ดังนั้นการรบกวนย้อนกลับเป็นสิ่งที่แสดงกลับไปด้านหลังเพื่อรบกวนการนึกถึงข้อมูลที่เคยเรียนรู้ก่อนหน้านี้
การรบกวนย้อนกลับเกิดขึ้นเมื่อข้อมูลใหม่ (ที่เพิ่งจะเรียนรู้) บดบังหรือรบกวนการเรียกใช้ของข้อมูลเก่า หรือข้อมูลที่เคยเรียนรู้นานแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่เวลา 13.00 – 15.00 น. นักศึกษาได้ศึกษาวิชาจิตวิทยาเพื่อเตรียมสอบ และต่อมา 15.00 – 18.00 น. เขาศึกษาวิชาสังคมวิทยาเพื่อเตรียมสอบ เช่นกัน
นักศึกษาดังกล่าวอาจประสบความยากลำบากเพื่อจดจำคำศัพท์ทางจิตวิทยาที่เขาเรียนรู้มาก่อนหน้านี้ เพราะคำศัพท์ทางสังคมวิทยาที่เพิ่งเรียนรู้ “ส่งผลย้อนกลับ” และรบกวนสิ่งที่เรียนรู้ก่อนหน้านี้ ที่มีความเกี่ยวข้องกับคำศัพท์ทางจิตวิทยา
เมื่อนักศึกษาคนดังกล่าวเข้าสอบวิชาจิตวิทยา เขาอาจจะลืมบางคำศัพท์ของวิชานี้เพราะการรบกวนย้อนกลับ โดยสิ่งที่เพิ่งเคยเรียนรู้ล่าสุด ส่งผลกลับหลังเพื่อรบกวนหรือบดบังการนึกถึงข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงกับคำศัพท์ทางจิตวิทยา (อันเป็นสิ่งที่เขาเรียนรู้ก่อนหน้านั้น)
ทั้งสิ่งรบกวนเชิงรุกและย้อนกลับเป็น 2 เหตุผลทั่วไปของการลืม โดยสิ่งรบกวนอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดที่ร้ายแรง เช่นในกรณีที่ผู้เห็นเหตุการณ์ชี้ตัวผิดคน
ในการวิจัยครั้งหนึ่ง ได้มีการให้ผู้ชม 2,000 คนดูหนังสั้นและโทรศัพท์เข้ามายังรายการเพื่อชี้ตัวผู้ร้าย ปรากฏว่า มีเพียงผู้ชม 200 คนใน 2,000 คนเท่านั้น ที่สามารถชี้ใบหน้าผู้ร้ายที่แสดงบนหน้าจอโทรทัศน์เพียงไม่กี่วินาทีได้ถูกต้อง เหตุผลหนึ่งที่ผู้ชมลืมใบหน้าของผู้ร้ายเพราะมีการเกิดขึ้นของ 2 ประเภทการรบกวนข้างต้น
ถ้าเป็นการทำงานจากการรบกวนเชิงรุก หมายความว่าใบหน้าผู้ร้ายที่เขาได้มีการเรียนรู้ก่อนหน้านี้ ส่งผลไปด้านหน้าเพื่อบดบังหรือรบกวนการจดจำใบหน้าใหม่ในขณะที่ผู้ชมเห็นระหว่างชี้ตัว
ในทางกลับกัน ถ้าเป็นการทำงานของการรบกวนย้อนกลับ หมายความว่า ถ้าใบหน้าใหม่ที่ผู้ชมเห็นในขณะชี้ตัวผู้ร้ายส่งผลย้อนกลับเพื่อบดบังหรือรบกวนการจดจำใบหน้าผู้ร้ายที่ผู้ชมได้เห็นก่อนหน้านี้
ดังนั้นคนเราสามารถลืมข้อมูลที่จัดเก็บในความทรงจำระยะยาว (Long-term memory) เพราะการเกิดขึ้นของสิ่งรบกวนที่อธิบายข้างต้น ในสัปดาห์ต่อไป เราจะมาพูดถึงสาเหตุทั่วไปที่ทำให้มนุษย์ลืม โดยเกี่ยวข้องกับ “ตัวชี้นำการนึกถึง” (Retrieval cues) โดยข้อมูลที่ไม่เพียงพอ
แหล่งข้อมูล
- Plotnik (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth - Thompson Learning.
- Organization of memory - https://en.wikipedia.org/wiki/Organizational_memory [2022, Feb 19].