จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 357: สิ่งรบกวน (1)
- โดย ภู ภักดิ์วิไลเกียรติ
- 13 กุมภาพันธ์ 2565
- Tweet
จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 357: สิ่งรบกวน (1)
สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับเหตุผลหลักบางประการ ที่ส่งผลให้คนเราลืม โดยสัปดาห์นี้ เราจะมาเจาะลึกเกี่ยวกับสาเหตุของการลืมที่เกิดขึ้นจากสิ่งรบกวน (Interference)
ปัญหาที่นักศึกษาหลายคนพบเจอ จากการต้องเข้าสอบหลายวิชาที่มีความยากภายในวันเดียวกัน ในสถานการณ์นี้สามารถเพิ่มโอกาสให้เกิดการลืมของความรู้ที่ได้เตรียมเอาไว้ อันเป็นบางอย่างที่เรียกว่า สิ่งรบกวน
ทฤษฎีของสิ่งรบกวนกล่าวว่า มนุษย์อาจลืมข้อมูลไม่ใช่เพราะข้อมูลพวกนั้นไม่ได้ถูกจัดเก็บหรือมีการจดจำ แต่เพราะว่าข้อมูลเก่าหรือใหม่ที่มีความเกี่ยวข้องกัน สร้างความสับสนและบดบังของการนำมาใช้ (Retrieval) จากความทรงจำ
นักศึกษาส่วนใหญ่ที่ต้องสอบหลายวิชาภายในวันเดียวกัน มักพร่ำบ่นว่า พวกเขาต้องใช้ระยะเวลาเตรียมตัวนานและยากลำบาก แต่ลืมข้อมูลที่พวกเขารู้ว่าพวกเขาเข้าใจ ในกรณีนี้สาเหตุของปัญหาอาจเกิดจากสิ่งรบกวน
ในทำนองเดียวกัน ถ้านักศึกษาเข้าเรียนมากกว่าหนึ่งวิชาต่อเนื่องกัน พวกเขาอาจพบว่า ข้อมูลจากบทเรียนในวิชาหนึ่ง มีการรบกวนการเรียนรู้หรือการจดจำข้อมูล จากอีกวิชาหนึ่ง
สิ่งแรกที่ควรจดจำเกี่ยวกับสิ่งรบกวนก็คือ พวกมันสามารถแสดงออกไปทางด้านหน้าอันเรียกว่า เชิงรุก (Proactive) หรือสามารถแสดงไปในทางย้อนกลับอันเรียกว่า เชิงรับ หรือ ผลย้อนหลัง (Retroactive)
เชิงรุกหมายถึง “ไปข้างหน้า” ดังนั้นการรบกวนแบบเชิงรุก แสดงแนวทางไปข้างหน้าเพื่อรบกวนการนึกถึงข้อมูลที่เพิ่งเรียนรู้ใหม่ การรบกวนเชิงรุกเกิดขึ้นเมื่อความรู้เก่า (ข้อมูลที่เคยเรียนรู้ก่อนหน้านี้) บดบังหรือรบกวนการจำของความรู้ใหม่ (ที่เรียนรู้ในเวลาต่อมา)
ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ 13.00 -15.00 น. นักศึกษาเข้าเรียนเพื่อเตรียมสอบวิชาจิตวิทยา ยิ่งมีการจัดเก็บคำศัพท์ทางจิตวิทยาลงไปในความทรงจำมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ข้อมูลมีประสิทธิภาพ “ในการแสดงออกไปข้างหน้า” แต่จะรบกวนความรู้ใหม่และความรู้ที่เกี่ยวข้องที่จะเรียนต่อไป
ต่อมาในเวลา 15.00 – 18.00 น. นักศึกษาข้างต้นได้เรียนต่อในวิชาสังคมวิทยาเพื่อเตรียมสอบ เขาอาจประสบความยากลำบากในการเรียนรู้และจดจำข้อมูลของวิชานี้เพราะการเตรียมสอบของวิชาจิตวิทยาก่อนหน้านี้ ส่งผลไปด้านหน้าและรบกวนการจดจำคำศัพท์ในวิชาสังคมวิทยา
จากเหตุการณ์ข้างต้น เมื่อนักศึกษาดังกล่าวกำลังสอบวิชาสังคมวิทยา เขาอาจจะลืมบางคำศัพท์ที่เข้าได้เรียนจากวิชานี้เพราะเกิดขึ้นจากการรบกวนแบบเชิงรุก
ข้อมูลที่ได้เรียนก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับคำศัพท์วิชาจิตวิทยาส่งผลไปข้างหน้าในการรบกวนหรือบดบังการนึกถึงข้อมูลที่นักศึกษาเพิ่งเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมวิทยา
แหล่งข้อมูล
- Plotnik (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth - Thompson Learning.
- Organization of memory - https://en.wikipedia.org/wiki/Organizational_memory [2022, Feb 12].