จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 347: การระลึกถึงกับการรู้จำ (1)
- โดย ภู ภักดิ์วิไลเกียรติ
- 5 ธันวาคม 2564
- Tweet
จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 347: การระลึกถึงกับการรู้จำ (1)
มันคือช่วงเวลากลางคืนประมาณ 21:00 นาฬิกาที่นักศึกษาชายคนหนึ่ง ได้เข้าไปในตึกมหาวิทยาลัย หลังจากเขาเสร็จงานวิชาจิตวิทยา โดยเขาเดินขึ้นบันได 1 ชั้นและเดินต่อไปตามทางเดินเพื่อที่จะเอาชุดงานไปสอดใต้ประตูห้องอาจารย์ผู้สอน
ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ณ จุดประมาณกึ่งกลางของทางเดินที่มีไฟสลัว มีผู้ชายผมสีแดงใส่เสื้อคลุมสีน้ำตาลกระโดดเข้ามาจากประตูที่เปิดออกมาเพียงครึ่งเดียว แล้ววิ่งใส่นักศึกษาชายที่กำลังไปส่งงาน
ตามสัญชาตญาณของนักศึกษาคนนั้น เขาได้เหวี่ยงมืออกมาเพื่อปัดป้องอันตรายที่กำลังเข้ามา ในภาพเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว ชายที่วิ่งเข้าหานักศึกษาได้กระชากกระเป๋าสะพายสีน้ำเงินและผลักเขาลงไปที่พื้น
ในจังหวะเดียวกันชายทั้งสองคนได้สบตากันและคนร้ายได้ชี้ไปที่นักศึกษาด้วยท่าทางข่มขู่ (Menacing gesture) จากนั้นพูดว่า “อย่าขยับและห้ามส่งเสียง” ต่อมาผู้ร้ายได้ตรวจสอบทางเดินและเดินวนรอบนักศึกษา แล้วเขาได้จากไป
หนังสั้นระยะเวลา 12 วินาที (ซึ่งมีเรื่องราวคล้ายกับบทความข้างต้น) ได้แสดงบนจอโทรทัศน์ โดยให้เห็นใบหน้าคนที่เข้ามาจู่โจม (Assailant’s face) ไม่กี่วินาที
ต่อมาได้มีการให้ผู้ชม ได้ดูผู้ต้องสงสัย 6 คน ที่เรียงแถวและได้มีการให้ผู้ชมโทรศัพท์หาสถานีโทรทัศน์เพื่อให้จำแนกว่าใครคือผู้ร้ายตัวจริง
ในจำนวนมากกว่า 2,000 สายที่โทรศัพท์เข้าไป มีเพียงแค่ 200 สายที่สามารถตอบได้ถูกต้องว่าใครคือผู้ร้าย อันอีก 1,800 คนที่เหลือตอบผิด
โดยที่ไม่มีการย้อนดูหนังหรืออ่านบทความซ้ำอีกรอบ ผู้อ่านจงลองตอบคำถาม 6 ข้อเริ่มจาก
- ผู้ร้ายใส่เสื้อคลุมสีอะไร? คำตอบของข้อนี้คือผู้ร้ายใส่เสื้อคลุมสีน้ำตาล
- กระเป๋าของนักศึกษาที่กำลังไปส่งงานมีสีอะไรและเป็นกระเป๋าประเภทใด? คำตอบของข้อนี้คือ เป็นกระเป๋าชนิดสพายไหล่สีน้ำเงิน
- นอกจากกระเป๋าแล้ว มีอะไรบ้างที่นักศึกษากำลังถืออยู่? คำตอบคือกระดาษงานวิชาจิตวิทยา
- คำพูดของชายที่ข่มขู่ (Mugger) คือ “อย่าส่งเสียง” ใช่หรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่
- ในขณะที่นักศึกษาโดนผลักให้ลงไปที่พื้น เขาได้พูดว่าให้ “หยุด” ใช่ไหม? คำตอบคือนักศึกษาไม่ได้พูดประโยคนี้ออกมาหลังจากที่เขาถูกผลักลงไปที่พื้น
- ใน 2,000 สายที่โทรเข้าไปเพื่อชี้ตัวผู้ร้ายกับทางสถานีโทรทัศน์มี 1,800 คนที่สามารถชี้ตัวชายที่เป็นผู้ร้ายตัวจริงใช่หรือไม่? ซึ่งคำตอบของข้อนี้คือไม่ใช่
ในสัปดาห์ต่อไป เราจะมาพูดคุยกันว่า ทำไมเราถึงรู้สึกว่าคำถาม 3 ข้อแรกตอบได้ยากกว่าคำถามข้อที่ 4 – 6 โดยใช้หลักการระลึกถึง (Recall) และการรู้จำ (Recognition)
แหล่งข้อมูล
- Plotnik (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth - Thompson Learning.
- Organization of memory - https://en.wikipedia.org/wiki/Organizational_memory [2021, Dec 4]