คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยต่อระยะเวลาอยู่รอดมะเร็งปอดเพศหญิงที่ดีกว่าเพศชาย
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 9 มกราคม 2566
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยต่อระยะเวลาอยู่รอดมะเร็งปอดเพศหญิงที่ดีกว่าเพศชาย
การศึกษาทางการแพทย์ต่างๆพบตรงกันว่า ระยะเวลาอยู่รอดจากมะเร็งปอดในเพศหญิงยาวกว่าในเพศชาย (เพศหญิงอยู่ได้นานกว่าเพศชาย) คณะนักวิทยาศาสตร์จากประเทศออสเตรเลียนำโดย ดร. Xue Qin Yu จาก The Daffodil Centre, The University of Sydney, a joint venture with Cancer Council NSW, Sydney, ออสเตรเลีย จึงต้องการศึกษาว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ในมะเร็งปอดเพศหญิงถึงมีระยะเวลารอดชีวิตนานกว่าเพศชาย และได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง Journal of Thoracic Oncology ฉบับเดือน พฤษภาคม 2022
โดยเป็นการศึกษาแบบ Prospective, population-based cohort ในผู้ป่วยมะเร็งปอด รัฐ New South Wales ช่วงปี ค.ศ.2006-2009 และติดตามผู้ป่วยจนถึงธันวาคม 2015 โดยข้อมูลต่างๆ ได้จากทะเบียนมะเร็งและเวชระเบียนผู้ป่วยซึ่งได้มีคำถามจากคณะนักวิจัย ถึงปัจจัยต่อการพยากรณ์โรคมะเร็งปอดของการศึกษาครั้งนี้รวมอยู่ด้วย ผู้ป่วยที่ศึกษาทั้งหมดอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป, มีผู้ป่วยที่ศึกษาเป็นเพศหญิง488ราย,และเพศชาย 642 ราย ผลการศึกษาพบว่า
- ผู้ป่วยเพศหญิงมีระยะเวลารอดชีวิตนานกว่าเพศชายอย่างสำคัญทางสถิติ โดยระยะกึ่งกลางระยะเวลาอยู่รอดในเพศหญิง=1.28ปี,เพศชาย=0.77ปี,(p<0.0001), ซึ่งความแตกต่างนี้พบได้เมื่อศึกษาลึกในแต่ละปัจจัยที่เป็นตัวการพยากรณ์โรคที่สำคัญ คือ ชนิดของเซลล์มะเร็ง, ระยะโรค, วิธีรักษา, และประวัติการสูบบุหรี่
- การวิเคราะห์พหุตัวแปร (Multivariable analyses)พบว่า ระยะเวลาอยู่รอดมีลำดับปัจจัยสำคัญจากมากไปหาน้อย ขึ้นกับ วิธีรักษา, การสูบบุหรี่, ชนิด และระยะโรคมะเร็ง
คณะผู้ศึกษา ให้คำอธิบายจากการศึกษานี้ ถึงสาเหตุที่ทำให้เพศหญิงมีระยะรอดชีวิตที่นานกว่าเพศชายว่า, ผู้ป่วยเพศหญิง:
- เป็นมะเร็งชนิด Adenocarcinoma มากกว่าเพศชาย ซึ่งมะเร็งชนิดนี้ไม่มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการสูบบุหรี่ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพยากรณ์โรคที่แย่
- มะเร็งชนิด Adenocarcinoma มักมีธรรมชาติการลุกลามของมะเร็งจำกัดเฉพาะที่สูงกว่ามะเร็งปอดชนิดอื่นๆจึงทำให้ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดสูงกว่าในเพศชาย ซึ่งในมะเร็งปอดที่สามารถผ่าตัดได้ การพยากรณ์โรคจะดีกว่าผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้
- เพศหญิงมีประวัติไม่สูบบุหรี่สูงกว่าเพศชาย
- เพศหญิงมักยอมรับและให้ความร่วมมือในการรักษาดีกว่าเพศชาย จึงมักได้รับการรักษาได้รวดเร็วกว่าเพศชาย มักภายใน 6 เดือนโดยเฉพาะในการผ่าตัดหลังวินิจฉัยโรคได้ โดยเพศหญิงผ่าตัดได้ 25%, เพศชาย 17%
- เพศหญิงมีความแข็งแรงของร่างกายดีกว่าเพศชาย คือ วินิจฉัยโรคได้ที่อายุน้อยกว่า และมักไม่มีโรคร่วมที่กระทบต่อวิธีรักษาโดยเฉพาะโรคที่เป็นผลจากสูบบุหรี่ (8%ของเพศชายที่ไม่เคยสูบบุหรี่, เพศหญิง=23%) โดยเฉพาะการผ่าตัดและยาเคมีบำบัดซึ่งเป็นวิธีหลักในการรักษามะเร็งปอด ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะสามารถทนต่อการรักษาได้ดีกว่า มักได้รับการผ่าตัดและได้ยาเคมีบำบัดครบตามตารางการรักษา
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การศึกษาครั้งนี้ มีวิธีศึกษาและจำนวนผู้ป่วยที่มากพอที่เชื่อได้ว่าเพศมีผลต่อระยะเวลาอยู่รอดของมะเร็งปอด ดังนั้นจึงน่าที่จะมีการนำมาพิจารณาเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกวิธีรักษาเพื่อที่จะได้หาวิธีรักษาที่สามารถเพิ่มระยะเวลาอยู่รอดของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมในแต่ละผู้ป่วย
บรรณานุกรม
- Xue Qin Yu, et al. Journal of Thoracic Oncology 2022; 17 (5): 688–699