คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน สารหนูกับโรคมะเร็ง
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 2 มกราคม 2566
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน สารหนูกับโรคมะเร็ง
สารหนู (Arsenic สัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ คือ As) เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งพบในธรรมชาติทั่วไป เช่น ในดิน น้ำ อากาศ พืช และสัตว์ที่รวมถึงซากของมัน มนุษย์ได้รับสารหนูจากการสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ รวมถึงจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จากการกิน/ดื่ม(ทางระบบทางเดินอาหาร), การหายใจ(ปอด), และการสัมผัส (ทางผิวหนัง), แหล่งสารหนูที่เราได้รับ เช่น อาหาร (พืช เนื้อสัตว์), ยาบางชนิด,สมุนไพร, ยากลางบ้าน น้ำดื่ม น้ำใช้ ทั้งจากธรรมชาติและโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยสารหนูสู่ดิน/แหล่งน้ำ,และจากของเล่น ของใช้, สีทาบ้าน/เคลือบสิ่งต่างๆ, ยาฆ่าแมลง, ยาฆ่าวัชพืช, ใบยาสูบ, ควันจากการเผาไหม้, เหมืองแร่โดยเฉพาะเหมืองแร่ถ่านหิน, โรงงาน ผลิตแก้ว ผลิตเซรามิก, ฯลฯ
สารหนู เป็นสารพิษที่อันตรายร้ายแรงทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง ที่ก่ออาการได้กับหลายระบบอวัยวะของร่างกาย เช่น
- ต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น น้ำลายไหล ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เลือดออกในทางเดินอาหาร ถ้ารุนแรง อาจถึงเกิดภาวะช็อก
- ต่อตับ: เช่น เกิดตับอักเสบ ตัวเหลืองตาเหลือง
- ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อรุนแรงอาจเกิดภาวะช็อกจากการไหลเวียนเลือดล้มเหลว
- ต่อปอด: เช่น เกิดภาวะปอดบวมน้ำจนอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลว
- ต่อไต: เช่น เกิดไตอักเสบ ปัสสาวะเป็นเลือด
- ต่อระบบประสาท: เช่น เกิดการเสื่อมของเซลล์ประสาท สับสน ชัก โคม่า
- ต่อผิวหนัง: เช่น ขึ้นผื่น สีผิวดำคล้ำ
- กดการทำงานของไขกระดูก: ส่งผลเกิดภาวะโลหิตจาง/โรคซีดเรื้อรัง และ
- การเกิดโรคมะเร็ง: สารหนูจัดเป็นสารก่อมะเร็งชัดเจนสำหรับมนุษย์ โดยเฉพาะ มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ทั้งนี้ สำนักงานที่ดูแลเกี่ยวกับด้านโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลกที่ชื่อว่า International Agency for Research on Cancer (IARC) ได้จัดให้ 'สารหนู' เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยเฉพาะสารหนูในรูปแบบสาร 'อนินทรีย์' ซึ่งมะเร็งที่มีรายงานชัดเจนว่ามีสารหนูเป็นสาเหตุ เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งผิวหนัง, มะเร็งปอด, และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิด มะเร็งไต, ตับ,ต่อมลูกหมาก
ดังนั้น เราจึงควรต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคสารหนูในทุกรูปแบบ ทั้งจาก อาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ และของใช้ต่างๆ โดยเฉพาะในชุมชนที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม หรือเหมืองแร่ ต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ควรช่วยกันดูแล/ตรวจสอบการกำจัดสารต่างๆของโรงงานสู่ธรรมชาติ เช่นการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ, ลงดิน, และจากควันต่างๆ
บรรณานุกรม
https://www.cancer.org/cancer/cancer-causes/arsenic.html [2022,Dec13]