คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน แนวปฏิบัติสำหรับการรักษามะเร็งแพร่กระจายที่สมองด้วยรังสีรักษาจาก ASTRO

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน แนวปฏิบัติสำหรับการรักษามะเร็งแพร่กระจายที่สมองด้วยรังสีรักษาจาก ASTRO

สมองเป็นอวัยวะที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งได้ทุกชนิดโดยเฉพาะ มะเร็งปอด  มะเร็งเต้านม มะเร็งไฝ(มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา)  มะเร็งระบบทางเดินอาหาร มะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ มะเร็งกระดูกชนิดออสติโอซาร์โคมา และมะเร็งในระบบโลหิตวิทยา

ปีนี้ สมาคมรังสีรักษาแลมะเร็งวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (ASTRO: American Society for Therapeutic Radiology and Oncology) ได้เผยแพร่แนวปฏิบัติสำหรับการรักษาภาวะที่มีมะเร็งชนิดต่างๆแพร่กระจายมาที่สมอง โดยมีข้อยกเว้นไม่รวมถึงที่แพร่มาจากมะเร็งระบบโลหิตวิทยาเพราะมีธรรมชาติของโรคต่างจากมะเร็งกลุ่มอื่นๆ, และการนี้ใช้เฉพาะโรงพยาบาลที่มีเครื่องฉายรังสีฯแบบ3มิติที่สามารถปิดกั้นรังสีฯต่อเนื้อเยื่อสมองส่วนเกี่ยวกับความจำ(ฮิปโปแคมพัส/Hipocampus)ได้เท่านั้น ซึ่งเครื่องฉายฯชนิดนี้มีในประเทศไทยทั้งในโรงพยาบาลรัฐของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน

แนวปฏิบัติฯจาก ASTRO:  ผู้เขียนขอสรุปดังนี้:

ก. กรณีไม่สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งแพร่กระจายที่สมองออกได้: ได้แก่

  • ถ้ามีมะเร็งแพร่กระจายมาสมอง1-4ก้อนและผู้ป่วยยังมีสุขภาพที่ดีสามารถดูแลตนเองได้โดยพึ่งพาผู้อื่นน้อยในกิจวัตรประจำวัน: ควรฉายรังสีฯด้วยเทคนิครังสีศัลยกรรม/ฉายรังสีปริมาณสูงเพียงครั้งเดียวเฉพาะแต่ละรอยโรค/แต่ละก้อนมะเร็งฯ (เทคนิค SRS:Stereotactic radiosurgery)
  • ถ้ามีมะเร็งแพร่กระจายมาสมอง5-10ก้อนและผู้ป่วยสุขภาพยังดูแลตนเองได้ดีพอควร, ควรปรึกษากับศัลยแพทย์สมองเพื่อพิจารณาผ่าตัดเอาก้อนเนื้อที่ก่ออาการทางสมองและ/หรือมีขนาดใหญ่ออกก่อน แล้วจึงพิจารณาฉายรังสี ศัลกรรม
  • ในผู้ป่วยมีอาการทางสมอง: ควรรักษาด้วยการผ่าตัด และ/หรือ รังสีศัลยกรรมเป็นวิธีแรกก่อนการรักษาด้วยวิธีอื่น(เช่น ยาเคมีบำบัด)
  • ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการทางสมอง: ควรพิจารณาเริ่มรักษาด้วยยาต่างๆที่รักษามะเร็งได้ทั้งตัว(Systemic therapy) เช่น ยาเคมีบำบัด, ยารักษาตรงเป้า, ก่อนรักษาด้วยรังสีรักษาและ/หรือการผ่าตัดที่สมอง
  • การฉายรังสีฯครอบคลุมทั้งสมอง:ควรเลือกใช้กรณีผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่ยังแข็งแรง แต่ไม่สามารถผ่าตัดสมองหรือใช้รังสีศัลยกรรมได้ โดยควรต้องฉายฯด้วยเทคนิคที่ปิดกั้นสมองส่วนฮิปโปแคมพัสและควรได้รับยาเมแมนทีน(Memantine)ร่วมด้วยเพื่อชะลอการเกิดปัญหาด้านความคิด/ความทรงจำ
  • ทั่วไป ไม่แนะนำการรักษาการฉายรังสีทั้งสมองร่วมกับรังสีศัลยกรรม ยกเว้น พิจารณาเป็นรายๆไป     
  • กรณีผู้ป่วยที่สุขภาพร่างกายแย่: การรักษาควรเป็นการรักษาตามอาการ ไม่ควรฉายรังสีที่สมองทุกรูปแบบ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการทางสมองมาก อาจพิจารณาฉายรังสีทั้งสมองแบบคอร์สสั้นๆเพื่อพยุงอาการที่สมองโดยควรปรึกษาขอความเห็นกับญาติผู้ป่วยก่อน

ข. ในผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดที่สมองได้: ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับการฉายรังสีฯตามหลังการผ่าตัดเสมอเพื่อช่วยเพิ่มอัตราควบคุมโรคที่สมอง โดย

  • ในผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายที่สมองไม่มาก ทั่วไปไม่เกิน4ก้อน แนะนำการฉายด้วยรังสีศัลยกรรมเพื่อลดผลข้างเคียงด้านความคิด/ความทรงจำ
  • ในบางกรณี ตามดุลพินิจของแพทย์ อาจฉายรังสีศัลยกรรมนำก่อนการผ่าตัดสมองก็ได้

อนึ่ง: การรักษาในบ้านเรา ในโรงพยาบาลที่สามารถให้การรักษารังสีศัลยกรรมและการผ่าตัดสมองได้ ก็ใช้แนวทางการรักษาในแนวเดียวกับASTRO 

บรรณานุกรม

Vinai Gondi, MD,et al.  Practical Radiation Oncology 2022;12(4):265-282. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1879850022000546  [2022,Dec13]