คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน สาเหตุเกิดการเห็นและได้กลิ่นผิดปกติระหว่างฉายรังสีรักษา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน สาเหตุเกิดการเห็นและได้กลิ่นผิดปกติระหว่างฉายรังสีรักษา

มีรายงานผู้ป่วยบางรายในโรคเนื้องอก/มะเร็งสมองและมะเร็งระบบศีรษะและลำคอว่าช่วงเวลาที่รับการฉายรังสีรักษา จะมีการมองเห็นและ/หรือได้กลิ่นแปลกๆผิดปกติ คณะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์จากประเทศญี่ปุ่น นำโดย N Hara จาก Department of Radiology, Juntendo University Hospital, โตเกียว จึงต้องการศึกษาว่า เหตุการณ์/หรือผลข้างเคียงดังกล่าวเกิดขึ้นได้มากหรือน้อยและมีสาเหตุจากอะไร และได้ตีพิมพ์ผลศึกษาทางอินเทอร์เน็ทในวารสารการแพทย์ Journal of Radiation Research ฉบับ กรกฎาคม ค.ศ. 2021

โดยเป็นการศึกษาไปข้างหน้า (prospective study) ในผู้ป่วยของโรงพยาบาลดังกล่าวที่เป็นเนื้องอกหรือมะเร็งสมองหรือของอวัยวะที่อยู่ใกล้ลูกตาที่ได้รับการฉายรังสีรักษา โดยแพทย์จะทำการตรวจประเมินผู้ป่วยอย่างน้อย1ครั้ง/สัปดาห์ในระหว่างได้รังรังสีฯ ทุกรายได้รับการฉายรังสีด้วยเทคนิค3มิติIMRTจากเครื่องฉายแบบหมุนรอบตัวผู้ป่วย(Helical tomotherapy) ซึ่งการศึกษานี้ทำในช่วง มีนาคม 2019-สิงหาคม ค.ศ. 2020  

โดยมีผู้ป่วยที่มีอาการและได้ทำการศึกษาทั้งหมด 39 ราย อายุช่วง 15 -86 ปี , 26 รายมีการเห็นภาพผิดปกติ, 13 รายได้กลิ่นผิดปกติ และพบว่า

  • การมองเห็นภาพและ/หรือได้กลิ่นผิดปกติ ไม่ขึ้นกับ ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ, เพศ, หรือ อายุ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติดังกล่าว และ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการฯ
  • 68%ของผู้ป่วย จะเห็นภาพผิดปกติ
  • ในกลุ่มเห็นภาพผิดปกติ 26 ราย, 12 รายได้กลิ่นผิดปกติร่วมด้วย, มีเพียง1รายของผู้ได้กลิ่นผิดปกติที่ไม่เห็นภาพผิดปกติร่วมด้วย
  • 34% ได้กลิ่นผิดปกติ ซึ่งไม่มีความแตกต่างในเรื่องเพศในกลุ่มได้กลิ่นผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มไม่ได้กลิ่นฯ, แต่ผู้ป่วยที่ได้กลิ่นผิดปกติอายุน้อยกว่ากลุ่มไม่ได้กลิ่นผิดปกติอย่างสำคัญทางสถิติ (p=0.0073)
  • ในผู้ป่วยทุกรายที่มีการเห็นภาพและกลิ่นผิดปกติ จะได้รับรังสีผ่านหรือใกล้เคียงลูกตา และ/หรือเนื้อเยื่อรับกลิ่น

คณะผู้ศึกษาให้คำอธิบายว่า การเห็นภาพและการได้กลิ่นผิดปกติเกิดจากการกระตุ้นโดยตรงของรังสีต่อเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับการเห็นและ/หรือการรับกลิ่นขณะลำรังสีผ่าน  โดยจะขึ้นกับปริมาณรังสีในแต่ละครั้ง (Dose rate) ไม่ขึ้นกับปริมาณรังสีทั้งหมดที่เนื้อเยื่อเหล่านั้นได้รับ (Total tumor dose), และการที่ในกลุ่มได้กลิ่นผิดปกติมักมีการเห็นภาพผิดปกติร่วมด้วยเกิดจากเนื้อเยื่อทั้ง2ชนิดอยู่ใกล้กันจึงมักได้รับรังสีพร้อมๆกันในขณะฉายรังสี ส่วนการที่การได้รับกลิ่นผิดปกติมักพบในคนอายุน้อย คณะผู้ศึกษาอธิบายว่า น่าเกิดจากเนื้อเยื่อการได้รับกลิ่นในเด็กเป็นเนื้อเยื่อที่ยังอ่อนอยู่จึงไวต่อการกระตุ้นของรังสีได้ดีกว่าเนื้อเยื่อนี้ในผู้ใหญ่ที่มักจะเสื่อมไปตามวัย

บรรณานุกรม

  1. N Hara, et al. Journal of Radiation Research 2021;62(4):718-725.  https://academic.oup.com/jrr/article/62/4/718/6257043  [2022,Nov13]