คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองต่อต่อมเพศ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองต่อต่อมเพศ

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน พบทั่วโลกทั้งเพศหญิงและเพศชาย และพบสูงในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว เป็นมะเร็งมีการพยากรณ์โรคดี มีอัตรารอดที่ห้าปีและที่สิบปีสูง เป็นมะเร็งตอบสนองดีมากต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา ทั่วไปไม่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ในโรคระยะลุกลาม ยาเคมีบำบัดจะใช้หลายๆตัวร่วมกัน หลักคือยากลุ่มที่เรียกว่า ABVD ร่วมกับยากลุ่ม BEACOPP  ซึ่งผลข้างเคียงของยากลุ่มดังกล่าวที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตหลังรักษาครบคือ การทำงานของต่อมเพศ(รังไข่ในเพศหญิงและอัณฑะในเพศชาย)จะลดต่ำลง ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากหรือถึงเป็นหมัน ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการนำการตรวจที่เรียกว่า PET-scan(เพทสะแกน)มาใช้ช่วยประกอบการตัดสินใจในการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อลดปริมาณการใช้ยากลุ่มBEACOPPให้น้อยลงในผู้ตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัด  ซึ่งจะช่วยลดผลข้างเคียงต่อต่อมเพศลงได้ในระดับที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า45ปีที่ยังต้องการมีบุตร

คณะแพทย์จากประเทศเบลเยียมและฝรั่งเศสนำโดย พญ. Isabelle Demeestere จาก Research Laboratory on Human Reproduction and Fertility Clinic, CUB-Erasme, Université Libre de Bruxelles, Brussels,เบลเยียม จึงต้องการศึกษาว่า การใช้เพทสะแกนช่วยในการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ฮอดจ์กินระยะลุกลามจะสามารถลดผลข้างเคียงต่อต่อมเพศได้จริงหรือไม่ และได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ Journal of Clinical Oncology ฉบับ 10ตุลาคม 2021

การศึกษานี้ ศึกษาข้อมูลช่วง 19 พฤษภาคม 2011 ถึง 29เมษายน 2014 มีผู้ป่วยฯเพศหญิง145ราย เพศชาย424ราย เปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยฯที่ใช้เพทสะแกนช่วยในการรักษาเพื่อลดปริมาณยาเคมีบำบัดในกลุ่มผู้ตอบสนองดีต่อยาเคมีบำบัด  กับ กลุ่มที่ใช้ยาเต็มรูปแบบ

ในเพศหญิง: พบ  อัตราเกิดการทำงานของรังไข่ต่ำกว่าวัย, และอัตรางานทำงานของรังไข่ในกลุ่มลดการใช้ยากลุ่มBEACOPPที่ใช้ข้อมูลจากตรวจเพทสะแกนต่ำกว่ากลุ่มได้ยาBEACOPPเต็มรูปแบบอย่างสำคัญทางสถิติ, p=0.001, และ 0.005 ตามลำดับ ซึ่งอัตราต่ำลงของการทำงานของต่อมเพศจะขึ้นกับอายุผู้ป่วยขณะรักษาและDose/ปริมาณยาเคมีฯกลุ่ม Alkylating agentsที่ใช้ แต่อัตราการตั้งครรภ์ไม่ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ

ในเพศชาย: พบ อัตราการฟื้นตัวของการทำงานของต่อมเพศในกลุ่มลดยาเคมีบำบัดฯสูงกว่ากลุ่มใช้ยาเต็มรูปแบบ และ อัตราเกิดการทำงานต่อมเพศลดลงรุนแรงน้อยกว่า อย่างสำคัญทางสถิติ, p<0.0001  รวมถึงอัตรามีบุตรได้สูงกว่าอย่างสำคัญทางสถิติเช่นกัน,p=0.004

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ถึงแม้มีการลดการได้รับชนิดและปริมาณของยาเคมีบำบัดจากการใช้เพทสะแกนช่วยประเมินการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินระยะลุกลาม  การรักษาก็ยังคงมีผลข้างเคียงต่อการทำงานของต่อมเพศแต่พบในอัตราที่ตำกว่าการใช้ยาเต็มรูปแบบที่รวมถึงภาวะมีบุตรยาก

บรรณานุกรม

  1. JCO 2021, 39(29);3251-3260 (abstract)