คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน วิธีรักษามะเร็งอวัยวะเพศชายระยะN3

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน วิธีรักษามะเร็งอวัยวะเพศชายระยะN3

มะเร็งอวัยวะเพศชาย ปัจจุบันพบน้อย พบทั่วโลกซึ่งรายงานในปี 2017 = 0.84 รายต่อประชากรชาย 1 แสนคนประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2018 = 1.1 รายต่อชายไทย 1 แสนคน  มักพบตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป พบสูงช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป พบน้อยมากๆๆๆ ในเด็ก วิธีรักษาหลักเช่นเดียวกับมะเร็งทั่วไป คือ การผ่าตัด, รังสีรักษา, และยาเคมีบำบัด โดยอาจใช้วิธีเดียว หรือตั้งแต่ 2 วิธีขึ้นไปร่วมกันขึ้นกับระยะโรค, อายุ, สุขภาพผู้ป่วย, และความต้องการของผู้ป่วย

ประเทศอินเดีย พบโรคนี้สูง (รายงานในปี 2017 = 3.32 รายต่อประชากรชายอินเดีย 1 แสนคน) คณะแพทย์จากประเทศอินเดีย นำโดย นพ. P. Khurud แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่ง Department of Radiation Oncology, Tata Memorial Centre, เมืองมุมไบ จึงต้องการทราบว่า การรักษาด้วยวิธีไหนในปัจจุบันที่ใช้ร่วมหลังการผ่าตัด (วิธีหลักของรพ.นี้) จะมีประสิทธิภาพในการรักษา 'มะเร็งอวัยวะเพศชายที่ยังไม่มีโรคแพร่กระจายทางกระแสเลือดโดยเฉพาะกลุ่ม N3 (มีมะเร็งแพร่เข้าต่อมน้ำเหลืองในท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน)' และได้รายงานผลศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็งของสหราชอาณาจักร Clinical Oncology ฉบับ 1 มีนาคม2022

โดยศึกษาแบบย้อนหลังในผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะเพศชายของโรงพยาบาลดังกล่าว  ช่วงมกราคม 2010 ถึงธันวาคม 2018, พบมีมะเร็งอวัยวะเพศชายที่ยังไม่มีโรคแพร่กระจายทางกระแสเลือด = 128 ราย โดยวิธีรักษามี 3 แบบ/กลุ่ม,  แบบแรก/1:คือผ่าตัดวิธีเดียว = 26 ราย, แบบ2: มี 2 วิธีรักษาร่วมกัน คือ ผ่าตัด+รังสีฯ หรือยาเคมีบำบัดวิธีใดวิธีหนึ่ง = 40 ราย, และแบบ 3:ได้ 3 วิธีรักษาร่วมกันคือ ผ่าตัด+เคมีฯ+รังสีฯ = 62 ราย, และมีผู้ป่วยกลุ่มมะเร็งแพร่เข้าต่อมน้ำเหลืองอุ้งเชิงกราน = 31 ราย (24%),  ทั้งนี้ระยะกึ่งกลางติดตามผลการรักษา = 22 เดือน  

สรุปผลการรักษา:

  • อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยทุกกลุ่ม = 55.4%, อัตราปลอดโรค = 62%
  • ผู้ป่วยที่มีผลการรักษาดีที่สุดคือได้การรักษาแบบ 3, คือใช้ทั้ง 3วิธีร่วมกัน คือผ่าตัดและตามด้วยยาเคมีบำบัดขณะรอแผลผ่าตัดหาย (จึงจะเริ่มให้รังสีฯได้), และเมื่อแผลผ่าตัดหายดีแล้วจะรักษาต่อเนื่องด้วยยาเคมีฯพร้อมให้รังสีฯ,กลุ่มนี้มีอัตรารอด = 93% ซึ่งเท่ากับอัตราปลอดโรคคือ 93% เช่นกัน
    • จากการศึกษารายละเอียดตัวแปรต่างๆเพิ่มเติม (Multivariate analysis) พบว่า
    • กลุ่มมีมะเร็งแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองอุ้งเชิงกราน(ตรวจจากต่อมน้ำเหลืองฯหลังผ่าตัด): อัตรารอดชีวิตและอัตราปลอดโรคฯแย่ที่สุด (P = 0.027, เท่ากันทั้ง 2 กรณี) เมื่อเทียบกับตัวแปรอื่นๆ
    • กลุ่มมีอัตรารอดฯดีกว่าอย่างมีความสำคัญทางสถิติ คือ กลุ่มได้รับการรักษาวิธีอื่นร่วมด้วยหลังผ่าตัด, ทั้งกลุ่มได้ยาเคมีฯ หรือ รังสีฯ วิธีใดวิธีหนึ่ง (P<0.001), และกลุ่มได้ทั้งเคมีฯ+รังสีฯ (P<0.001) เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดวิธีเดียว
    • กลุ่มได้ทั้ง 3 วิธีรักษาร่วมกัน (ผ่าตัด+รังสีฯ+เคมีฯ) มีอัตราปลอดโรคดีกว่ากลุ่มได้ผ่าตัด+เคมีฯ; P = 0.02, แต่ผลไม่ต่างทางสถิติกับกลุ่มได้ผ่าตัด+รังสีฯ, P = 0.19
  • กลุ่มผู้ป่วยที่ 'ไม่มี' โรคแพร่เข้าต่อมน้ำเหลืองอุ้งเชิงกราน: การได้รับยาเคมีฯ หรือ รังสีฯหลังผ่าตัดให้ผลไม่ต่างกันทั้งในอัตรารอดฯและอัตราปลอดโรคฯ
  • กลุ่มผู้ป่วยที่ 'มี' โรคแพร่เข้าต่อมน้ำเหลืองอุ้งเชิงกราน: การได้รับทั้งเคมีฯ+รังสีฯหลังผ่าตัด มีอัตราปลอดโรคดีกว่าได้รับเคมีฯหรือรังสีฯวิธีใดวิธีหนึ่ง, P = 0.05

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า

  • ผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะเพศชายระยะโรคที่ยังไม่มีการแพร่กระจายทางกระแสเลือด กรณีผู้ป่วยมีมะเร็งแพร่เข้าต่อมน้ำเหลืองอุ้งเชิงกรานมีการพยากรณ์โรคแย่กว่าผู้ป่วยที่ไม่มีการแพร่เข้าต่อมน้ำเหลืองอุ้งเชิงกราน ซึ่งการได้รับยาเคมีฯ+รังสีฯหลังผ่าตัดจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า
  • ส่วนกลุ่มที่มีโรคลุกลามเพียงต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ+ลุกลามออกนอกเยื่อหุ้มต่อมฯ แต่ไม่มีโรคที่ต่อมน้ำเหลืองอุ้งเชิงกราน, การให้ยาเคมีฯ หรือ รังสีฯเพียงวิธีใดวิธีหนึ่งหลังผ่าตัดอาจเพียงพอเพราะผลการรักษาไม่ต่างกันทางสถิติ

บรรณานุกรม

  1. Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand Vol IX , 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  2. Khurud, et al. Clinical Oncology 2022;34(3):172-178. https://www.clinicaloncologyonline.net/article/S0936-6555(21)00371-X/fulltext  [2022,Sept26]   
  3. https://www.cancer.org/cancer/penile-cancer/detection-diagnosis-staging/staging.html [2022,Sept26] 
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6645409/  [2022,Sept26]