คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งปากมดลูก
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 ตุลาคม 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งพบบ่อยของสตรีทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา มีรายงานในปี ค.ศ. 2020 ทั่วโลกพบเป็นลำดับ 7 ของมะเร็งรวมทั้ง 2 เพศ และพบเป็นลำดับ 4 ของมะเร็งในสตรี
ส่วนประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี ค.ศ.2021 (ผู้ป่วยช่วง 2016-2018) พบบ่อยเป็นลำดับ 5 ของมะเร็งในสตรีไทย โดยพบ 11.1 รายต่อสตรีไทย 1 แสนคน
ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งปากมดลูก ได้แก่
- การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีที่อวัยวะเพศจากคู่นอนซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- เริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุน้อยโดยเฉพาะอายุที่ต่ำกว่า18ปี
- ส่ำส่อนทางเพศ มีคู่นอนหลายคน
- มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคเอชไอวี/โรคเอดส์
- ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิด โรคหนองในเทียม (Chlamydia infection)
- ใช้ยาเม็ดคุมกำหนดต่อเนื่องนานๆ มักเกิน 5 ปีขึ้นไป
- ตั้งครรภ์หลายครั้ง มักตั้งแต่ 3 ครรภ์ขึ้นไป
- คลอดบุตรที่ครบกำหนดคลอดครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี
- ติดบุหรี่
- มีฐานะยากจน
ทั้งนี้ การป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว, การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่วัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ทั่วไปคือช่วงอายุ 11-12 ปี, และได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเริ่มตั้งแต่อายุ 25 ปี (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง มะเร็งปากมดลูก ในเว็บ haamor.com)
บรรณานุกรม
- J.et al.(2021).Cancer in Thailand Vol X, 2016-2018,Thailand
- https://www.wcrf.org/cancer-trends/worldwide-cancer-data/ [2022,Sept26]
- https://www.cancer.org/cancer/cervical-cancer/causes-risks-prevention/risk-factors.html [2022,Sept26]