คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ระยะลุกลามรุนแรงด้วยการฉายรังสีรักษา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-01

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ระยะลุกลามรุนแรงด้วยการฉายรังสีรักษา

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดเซลล์แบ่งตัวดี คือ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมดร่วมกับตัดต่อมน้ำเหลืองรอบๆต่อมไทรอยด์อออกด้วย หลังจากนั้นแพทย์จะพิจารณารักษาต่อเนื่องด้วยการดื่มน้ำแร่รังสีไอโอดีน แต่มีมะเร็งกลุ่มนี้ในระยะโรคลุกลามเฉพาะที่รุนแรง กล่าวคือลุกลามออกนอกต่อมไทรอยด์เข้าเนื้อเยื่อและอวัยวะข้างเคียงต่อมไทรอยด์ เช่น เนื้อเยื่อลำคอ, หลอดอาหาร, กล่องเสียง, หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ลำคอ, เนื้อเยื่อที่ติดกับกระดูกสันหลังส่วนลำคอ ซึ่งโรคระยะนี้มักจะทำให้แพทย์ไม่สามารถผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งออกให้หมดได้ แพทย์บางท่านจึงให้การรักษาเพิ่มเติมจากวิธีมาตรฐานดังกล่าวด้วยการฉายรังสีรักษาบริเวณลำคอส่วนต่อมไทรอยด์เดิมและอาจร่วมกับที่บริเวณต่อมน้ำเหลืองลำคอด้วย

คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากประเทศแคนาดา นำโดย นพ.  Daegan Sit  จากโรงพยาบาล Department of Surgery, University of British Columbia, ประเทศแคนาดาจึงต้องการทราบว่า การรักษาเพิ่มเติมด้วยการฉายรังสีรักษาในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวสามารถลดอัตราเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ, ระยะเวลาปลอดโรคมะเร็ง, และเพิ่มอัตรารอด จากมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้หรือไม่ และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง สหรัฐอเมริกา The International Journal of Radiation Oncology Biology&Physics ทางอินเทอร์เนท ฉบับวันที่ 15 พฤษภาคม 2021 

โดยเป็นการศึกษาย้อนหลัง (Population-based retrospective study) ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดเซลล์มะเร็งแบ่งตัวได้ดีที่โรคลุกลามเฉพาะที่รุนแรง (T4) ในประเทศแคนาดา ช่วง ค.ศ. 1985-2013  พบผู้ป่วยกลุ่มนี้ทั้งหมด 405 ราย ค่าระยะกึ่งกลางการติดตามโรค = 14.3 ปี, ค่ากึ่งกลางอายุผู้ป่วยเมื่อวันวินิจฉัยโรคได้คือ 53 ปี (ช่วง 20-87 ปี),  ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีฯร่วมด้วย = 211 ราย (52%), ที่เหลือ 48% (194 ราย) ไม่ได้รับการฉายรังสีฯ ร่วมด้วย 

เมื่อเปรียบเทียบลักษณะปัจจัยที่แย่ต่อการพยากรณ์โรคในผู้ป่วยทั้ง2กลุ่ม:

  • ผู้ป่วยที่ได้การฉายรังสีฯร่วมด้วยจะมีอายุ >/=55 ปี = 56%, กลุ่มไม่ได้รับการฉายรังสีฯ =35%, ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ, p=0.001
  • ผู้ป่วยที่ได้การฉายรังสีฯร่วมด้วยมีโรคลุกลามเข้าอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ =42%, กลุ่มไม่ได้รับการฉายรังสีฯ =8%, ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ, p =0.001
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีฯร่วมด้วยแพทย์ไม่สามารถผ่าตัดเซลล์มะเร็งออกได้หมด =81%, กลุ่มไม่ได้รับการฉายรังสีฯ =51%, ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ, p =0.001

เมื่อวิเคราะห์ตัวแปรเดียว และ วิเคราะห์ด้วยพหุตัวแปรข้อมูลเมื่อติดตามผู้ป่วยที่10ปีหลังการรักษา: พบว่า

  • อัตราโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่ตำแหน่งต่อมไทรอยด์และ/หรือต่อมน้ำเหลืองลำคอ: กลุ่มไม่ฉายรังสีฯ =21.6%, กลุ่มฉายรังสีฯ =11.4%,ต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ, HR =0.334, p =0.001
  • อัตรารอดชีวิตจากมะเร็งต่อมไทรอยด์: กลุ่มไม่ได้ฉายรังสีฯ =84.1%, กลุ่มฉายรังสีฯ =93.1%,  HR: 1.56, p =0.142, ไม่ต่างกันทางสถิติ
  • อัตรารอดชีวิตจากทุกสาเหตุ: กลุ่มไม่ได้ฉายรังสีฯ =85.7%, กลุ่มฉายรังสีฯ =67.5 %, HR: 1.216, p =0.335, ไม่ต่างกันทางสถิติ

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า จากการศึกษานี้พบว่า การฉายรังสีรักษาเพิ่มเติมในผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดเซลล์มะเร็งแบ่งตัวดี โรคระยะลุกลามเฉพาะที่รุนแรง, ลดอัตราโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่ต่อมไทรอยด์และต่อมน้ำเหลืองลำคอได้อย่างมีความสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีผลทางสถิติต่ออัตรารอดชีวิตจากมะเร็งต่อมไทรอยด์ และ/หรือต่ออัตรารอดชีวิตจากทุกสาเหตุโดยรวม

บรรณานุกรม

  1. Daegan Sit, et al. External beam radiotherapy in pT4 well-differentiated thyroid cancer: A population-based study of 405 patients. International Journal of Radiation Oncology Biology&Physics 2021.  https://www.redjournal.org/article/S0360-3016(21)00493-4/fulltext  (abstract), (2022,June27)